นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการประชุมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการของกระทรวงวัฒนธรรมตามกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แผนงาน ๓.๒ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ และประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ไปยังวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัดว่า ได้มอบหมายให้วัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศศึกษาพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ระเบียบ ข้อบังคับ รวมไปถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากนั้นนำเสนอสาระสำคัญของพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ในที่ประชุมกรมการจังหวัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดทราบ
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมอบให้วัฒนธรรมจังหวัดเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ให้แก่สภาวัฒนธรรมทุกระดับ เครือข่ายทางวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน และประชาชนทั่วไป ผ่านกิจกรรม เวทีหรือการประชุมสัมมนาต่างๆ พร้อมดำเนินการสำรวจ ค้นหา และจัดทำเป็นข้อมูลรายชื่อ โบราณสถานและโบราณวัตถุในพื้นที่ของจังหวัด โดยขอความร่วมมือหน่วยงานในระดับพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่า และต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากนั้นให้ รายงานผลการดำเนินงานมายัง วธ. อย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้ให้ร่วมมือกับสำนักศิลปากรในพื้นที่สำรวจจำนวนอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ของจังหวัด มีการอบรมให้ความรู้ อส.มศ. และหากจังหวัดยังไม่มี อส.มศ.ให้วิเคราะห์เหตุผลความจำเป็น โดยสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม เครือข่ายทางวัฒนธรรม และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ให้ปรึกษากับกรมศิลปากร และสำนักศิลปากรในพื้นที่
นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วัฒนธรรมจังหวัดได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่เข้าไปในโบราณสถาน เพื่อตรวจสอบดูว่าได้มีการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานหรือไม่ และในกรณีที่พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวก็สามารถดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดได้เพื่อเป็นหลักฐานแล้วแจ้งกรมศิลปากรเพื่อมอบหมายสำนักศิลปากรที่รับผิดชอบพื้นที่แจ้งความดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากความผิดตามตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ มีโทษทางอาญา และเป็นอาญาแผ่นดินไม่สามารถยอมความได้ ซึ่งในกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานฯ จะมีบทกำหนดโทษตามความผิดในลักษณะต่าง ๆ อาทิ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์หรือทำให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit