มท. 3 ลงพื้นที่ภาคตะวันออกรับมือภัยแล้ง อีสท์ วอเตอร์ พร้อมสร้างความมั่นใจมีน้ำเพียงพอสำหรับทุกภาคส่วน

23 Dec 2019
มท. 3 ลงพื้นที่ จังหวัดระยอง ตรวจติดตามงานของกระทรวงมหาดไทย เข้าฟังสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของอีสท์ วอเตอร์ พร้อมเยี่ยมดูงานโครงการสระสำรองน้ำดิบทับมา อีสท์ วอเตอร์ ยืนยันสร้างความมั่นใจมีน้ำเพียงพอทุกภาคส่วน ชูหลักคิดการบริหารจัดการน้ำสู่ความยั่งยืน
มท. 3 ลงพื้นที่ภาคตะวันออกรับมือภัยแล้ง อีสท์ วอเตอร์ พร้อมสร้างความมั่นใจมีน้ำเพียงพอสำหรับทุกภาคส่วน

ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะฯ ได้เดินทางมาตรวจติดตามงานในหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ณ ศูนย์ปฎิบัติการจังหวัดระยองของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ โดยมี นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารของ อีสท์ วอเตอร์ ให้การต้อนรับ หลังจากนั้นได้เยี่ยมดูงานโครงการสระสำรองน้ำดิบทับมา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอีสท์ วอเตอร์

นายจิรายุทธ ได้รายงานให้ ดร.ทรงศักดิ์ได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจและการดำเนินธุรกิจของอีสท์ วอเตอร์ โดยสรุปว่า อีสท์ วอเตอร์มีพันธกิจมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำในระยะยาว ผ่านการบริหารจัดการระบบขนส่งน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญๆ ในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด สู่การให้บริการน้ำครบวงจรให้กับผู้ใช้น้ำ อีสท์ วอเตอร์ยังนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาช่วยเสริม ขีดความสามารถในการทำงานของระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อออกแบบระบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้น้ำแต่ละราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อีสท์ วอเตอร์ พร้อมพัฒนาโครงการใหม่ๆ ร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่ว่า "เป็นผู้นำในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรของประเทศ"

ดร.ทรงศักดิ์ ได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาภัยแล้งในปี 2563 โดยนายจิรายุทธได้รายงานว่า อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการรองรับแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดังนี้

  • บริหารควบคุมการใช้น้ำลูกค้าทุกพื้นที่ลดลง 10% เริ่มดำเนินการภายใน 15 ธ.ค. 2562 โดยเบื้องต้นขอให้เข้าเจรจากับลูกค้าก่อนนำส่งหนังสือควบคุมการใช้น้ำ
  • การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากบ่อดินเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา
  • โครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีสูบน้ำ
  • โครงการเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ กับเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ -อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
  • โครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำฉะเชิงเทรา (คลองเขื่อน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง
  • โครงการเพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำท่อหนองปลาไหล-หนองค้อ
  • โครงการก่อสร้างสระสำรองน้ำดิบทับมา
  • โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ สร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดเพื่อชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรน้ำ ผ่านหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภายใต้ โครงการ "สะกิดไทย ใส่ใจน้ำ" นำเสนอหลักปฏิบัติการใช้น้ำรูปแบบใหม่ ด้วยการสื่อสารผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า "URD" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเป็นหลักปฏิบัติให้กับทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ เพื่อช่วยให้ทรัพยากรน้ำเกิดความยั่งยืน และบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำในด้านต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติ 3 ส่วน คือ คุ้มค่า, ควบคุม, คาดการณ์ ส่วนที่ 1 คุ้มค่า ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าสู่ความยั่งยืน โดยดึงหลักการของการ reduce, reuse, recycle เข้ามาช่วย (U) ส่วนที่ 2 ควบคุม มีการจัดสรรน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่อใช้อย่างพอเพียงและเพียงพอต่อปริมาณน้ำที่มีการจัดสรรไว้อย่างระมัดระวัง (R) ส่วนที่ 3 คาดการณ์ มีการวางแผนใช้น้ำให้พอดีกับพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของการใช้น้ำในแต่ละเดือนจนส่งผลกระทบถึงแหล่งน้ำ (D) เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และรองรับการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่งความมั่นคงด้านของประเทศ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและมีน้ำเพียงพอเพื่ออนาคตข้างหน้าอย่างแท้จริง

HTML::image( HTML::image( HTML::image(