มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสร้าง Rating Scale ตัวชี้วัดศักยภาพสู่มหาวิทยาลัยสุขภาพระดับอาเซียน

27 Jun 2019
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) และดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงการเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยสมาชิกเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพตามกรอบ Healthy University Framework ในโอกาสนี้ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการส่งเสริมมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนให้พัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ โดยมี นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนกและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสร้าง Rating Scale ตัวชี้วัดศักยภาพสู่มหาวิทยาลัยสุขภาพระดับอาเซียน

ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ASEAN University Network หรือ AUN เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน จำนวน 30 สถาบันใน 10 ประเทศ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้รับการศึกษา การอบรม มีสุขภาพสมบูรณ์และมีฐานะที่มั่นคง ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยอาเซียน ซึ่งในปัจจุบันมีการดำเนินงานภายใต้เครือข่าย 16 เครือข่าย โดยที่ประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนจะมีการพิจารณามหาวิทยาลัยสมาชิกที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญมาทำหน้าที่เลขานุการของเครือข่ายนั้นๆ ซึ่งได้มีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำหน้าที่เป็นเลขานุการของเครือข่ายเฉพาะทางด้าน AUN Human Rights Education Network (AUN-HREN) และ AUN-Health Promotion Network (AUN-HPN) ด้วยศักยภาพและความพร้อมของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว จึงมั่นใจได้ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จะสามารถขับเคลื่อนและเป็นผู้นำสร้างศักยภาพให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายต่อไปได้เป็นอย่างดี ด้วยความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเป็นแกนนำเครือข่ายในการเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยสมาชิกเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ มีการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ ครอบคลุมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนและการบริหารงานในสถาบันการศึกษา ตามกรอบแนวคิดที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลมาเป็นแนวทางปฏิบัติ สร้างเกณฑ์มาตรฐาน และกำหนดแนวทางการประเมินผลที่บ่งชี้ถึงระดับความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสมาชิกเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ อันจะนำไปสู่ความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัยภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นว่า งานสร้างเสริมสุขภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-HPN) เป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยและภาคีต่างๆ ในการร่วมมือส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ปลอดภัยจากอันตรายของโรคเรื้อรังต่างๆ ด้วยการกระตุ้นและสร้างความตระหนักถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงชุมชนใกล้เคียง โดยในปี ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้จัดทำ "กรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ หรือ Healthy University Framework" เพื่อกำหนดเป็นทิศทางและมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ๒๒ ประการ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนกว่าร้อยละ 70

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอดและได้กำหนดเป็นนโยบายระดับมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ทุกคณะและสถาบันภายในมหาวิทยาลัย ดำเนินการตามกรอบของ Healthy University Framework ซึ่งนอกจากจะทำให้คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้มีพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีเป็นแบบอย่างแก่สังคมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันยังได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพแก่มหาวิทยาลัยสมาชิกทั้ง 30 แห่งในภูมิภาคอาเซียน อาทิ การจัดประชุมวิชาการเรื่องการวิจัยด้านส่งเสริมสุขภาพ การสร้างผู้นำในงานส่งเสริมสุขภาพ และในวันนี้เครือข่าย AUN-HPN ได้มีการประชุมวิชาการด้านการควบคุมกำกับและประเมินผลงานสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้บริหารและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสมาชิกจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

และอีกก้าวที่สำคัญในฐานะเลขานุการเครือข่าย AUN HPN คือ การจัดทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพ โดยในปัจจุบันเครือข่าย AUN-HPN กำลังพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลที่เรียกว่า ASEAN Rating on Health University หรือ ARHU เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต่างๆตามกรอบแนวคิด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลย้อนกลับเพื่อพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพในระดับมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาให้ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพ ในเชิงกลไก บทบาท การพัฒนาศักยภาพ ผ่านการสนับสนุน โครงการ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยในเครือข่าย AUN-HPN มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขับเคลื่อนและขยายงานสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทยและในภูมิภาคภูมิภาคอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสสส.และมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุน AUN-HPN มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

กรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ หรือ Healthy University Framework ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติให้มหาวิทยาลัยต่างๆพัฒนาไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพได้ โดยอาศัยมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ 22 ประการ พัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้นำด้านสร้างเสริมสุขภาพ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิธีการวิจัยด้านสร้างเสริมสุขภาพ และที่จัดขึ้นใน 2 วันนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพเกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัย ด้านสร้างเสริมสุขภาพระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายในหลายประเด็น เช่น กิจกรรมทางกาย สุขภาพจิต บุหรี่ แอลกอฮอลล์ เป็นต้น

ขยายเครือข่ายและแนวคิดในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วภูมิภาคในประเทศ ผ่านมหาวิทยาลัยแกนนำทั้ง 5 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ ปัจจุบัน เครือข่ายฯมีสมาชิกสบทบเพิ่มขึ้นอีก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจในเครือข่ายและแนวคิดการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพจำนวนมาก

จากความสำเร็จในโครงการดังกล่าว เราจึงต่อยอดความร่วมมือในการส่งเสริมมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนให้พัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ โดยมีการลงนามขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล ในบทบาทของสำนักเลขาธิการเครือข่าย AUN-HPN กับ สสส. ในการเดินหน้านำ Healthy University Framework ไปใช้ พร้อมมีการประเมินผลการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยระบบติดตามและประเมินผลที่เรียกว่า ASEAN Rating on Health University และมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายและแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งสู่การลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นำไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชนต่อไป

HTML::image(