น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดชายแดน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดเชียงราย ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการระบาดของเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าโรค ASF จะไม่มีผลกระทบกับคน แต่เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงในสุกร ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ต้องทำลายหมูทิ้งอย่างเดียว และศูนย์ฆ่าเชื้อยานพาหนะ ที่ด่านเชียงแสน มีความพิเศษตรงที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนถ่ายสินค้าปศุสัตว์จากเรือที่มาจากประเทศเมียนมา ลาว และจีน ซึ่งสองประเทศหลังมีการพบการระบาดของโรค ASF แล้ว
"กรมปศุสัตว์ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนรวมทั้ง ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฯ 2 แห่งคือที่เชียงรายและมุกดาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกร ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสให้กับภาคปศุสัตว์ของไทยอีกด้วย" น.สพ.สรวิศกล่าว
ทางด้าน นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า เชียงราย มีอาณาเขตติดกับ สปป.ลาว โดยทางแม่น้ำโขง และสะพานเชื่อมถึงกัน ขณะที่ภายในจังหวัดเชียงราย มีผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 7,000 ราย มีสุกรรวมกันประมาณ 144,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ได้มาตรฐาน แต่ก็ยังมีรายย่อยที่อาจมีความเสี่ยงและหากเกิดโรคจะทำให้เสียหาย จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการตั้งศูนย์ฯ ที่ชายแดนดังกล่าว
นายวิรัตน์ ตันหยง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงผลกระทบของโรคระบาด ASF ที่จะมีต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม ซีพีเอฟ จึงสนับสนุนงบประมาณสร้าง ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ 2 แห่ง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และที่จังหวัดมุกดาหาร รวมเป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและมีความรู้เรื่อง ASF เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรค ASF และโรคระบาดอื่นๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
น.สพ. ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟยังให้ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายของการรับรู้ข่าวสารในเรื่องของโรค ASF ระหว่างผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ผู้เลี้ยงในโครงการคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง กรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่โรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศ สามารถเข้าไปจัดการกับสุกรที่ติดโรค และควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการจัดการชดเชยเพื่อให้สามารถยุติการแพร่ระบาดโรคให้เร็วที่สุด./
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit