ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม หลังอุปทานตึงตัวจากสถานการณ์ความตึงเครียดสหรัฐฯ – อิหร่าน

27 May 2019
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 65 - 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 - 31 พ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงระอุ ซึ่งเป็นผลจากการตอบโต้ของฝังอิหร่าน จากความไม่พอใจที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเข้มงวดต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปีส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ เริ่มส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน พร้อมทั้งกองกำลังทิ้งระเบิดไปยังตะวันออกกลางเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออิหร่าน หลังเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงขึ้น เช่น ท่อขนส่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบียถูกลอบโจมตี จรวดถูกยิงตกเข้าไปใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิรัก และการประกาศขู่ที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการส่งออกน้ำมันของตะวันออกกลาง ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกดดันอิหร่านโดยการยกเลิกการผ่อนปรนการส่งออกน้ำมันของอิหร่านตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 62 เพื่อเป็นการตัดแหล่งรายได้ที่สำคัญของอิหร่าน

อุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตฝั่งกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มลดลงต่อ หลังกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มเตรียมขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะมีการประชุมกลุ่มโอเปกวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเห็นด้วยที่จะปรับลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของโลกลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 22.8 ล้านบาร์เรลและเป็นระดับที่สูงกว่าระดับ 5 ปีเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ที่ 17 พ.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น 4.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 50 ไปสู่ระดับ 476.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล

ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดันจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กัน โดยในวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 25 จากระดับเดิมที่ร้อยละ 10 ทางด้านจีนตอบโต้โดยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่ระดับร้อยละ 5-10 ไปสู่ระดับร้อยละ 25 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 62 ซึ่งผลของสงครามการค้าส่งผลกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจากระดับร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.2

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสหรัฐฯ ไตรมาส 1/2562 ดัชนีภาคการบริการจีน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 - 24 พ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลง โดยปัญหาสงครามการค้าเพิ่มระดับรุนแรงขึ้นจากการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าของระหว่างสองประเทศไปสู่สงครามเย็นด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ได้รับปัจจัยหนุนหลังโอเปกส่งสัญญาณเตรียมคงการปรับลดกำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดิมที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี ในการประชุมกลุ่มโอเปกวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 นอกจากนี้ ตลาดกังวลสถานการณ์ในแถบอ่าวเปอร์เซียที่ร้อนระอุ หลังเกิดเหตุการณ์จรวดถูกยิงตกเข้าไปใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิรัก ส่งผลให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงท่าทีโกรธเคืองและประกาศพร้อมตอบโต้อิหร่านอย่างเต็มพิกัด