อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งยังมีความไม่แน่นอนหรือขึ้นอยู่กับตัวแปรบางส่วน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่สิ่งที่ผู้อำนาจรัฐและคณะกรรมการเลือกตั้งทำได้ คือ การจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการลดปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในอนาคต ทั้งที่โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะเวลา 15-20 ปี หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจของ คสช และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และมีโอกาสจะเกิดรัฐประหารได้อีก และขอพยากรณ์หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่สภาวะที่ไม่พึงประสงค์เช่นนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง
ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนได้หากเรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง หลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความเสื่อมถอย เราควรช่วยกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตประชาธิปไตย
ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แม้นเป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา แต่ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุล
ความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ หลังการเลือกตั้งระบอบการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้กติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้วุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศ, หลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของประชาชน ความยุติธรรมและหลักการปกครองโดยกฎหมาย (นิติรัฐ) สังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการดังต่อไปนี้ ตนในฐานะรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จึงขอเรียกร้องผู้มีอำนาจรัฐ คสช รัฐบาล กกต ดังต่อไปนี้
2. ขอเรียกร้องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขต) และต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้นำประเทศยึดโยงกับประชาชนโดยตรงและมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เรามีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีวีรชนประชาธิปไตยต้องเสียสละชีวิตและอีกครั้งเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 12 กันยายน 2535 หลังการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเกิดความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อและเราได้ยึดถือหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการกำหนดใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่อยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคด้วยก็สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนและผู้นำประเทศมีความเชื่อมโยงกันลดลงจนไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของประชาชนเจ้าของประเทศเจ้าของอำนาจอธิปไตย เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนแบบผสมนี้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส. เขต เลือกพรรคการเมือง และเลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ นอกจากนี้ในกรณีที่ประชาชนต้องการสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี จะรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนเลือกใครกันแน่ใน 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ เมื่อมีการกำหนดบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญให้ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช ร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการเลือกผู้นำประเทศอย่างแท้จริงอันเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย
3. ขอให้ กกต จัดพิมพ์ โลโก้ และ ชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การเพียงแค่เลือก ส.ส. แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศผ่านการเลือกพรรคการเมือง การที่ กกต จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคสร้างความสับสนในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเข้าไปอีก จากเดิมที่มีการกำหนดให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันในแต่ละเขตเลือกตั้งยังเป็นคนละเบอร์กันอีกก็สร้างความยุ่งยากและสับสนให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว และ ลดบทบาทความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองอยู่ หากบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและไม่มีโลโก้พรรคการเมือง อาจเป็นการวางแผนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะโดยตั้งใจ ซึ่ง กกต ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วย การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นแผนการทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการทำให้การเลือกตั้งมันดูสับสน ยุ่งยากและอัปลักษณ์ด้วยความตั้งใจของผู้มีอำนาจหรือไม่ และ ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช อ่อนแอลง ในที่สุดจะก่อให้เกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนเลย
หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเรียกร้องข้างต้น จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคต ลดความเสี่ยงในการเกิดการเลือกตั้งสกปรกและเกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง บ้านเมืองจะได้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้า รุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ขอให้ผู้มีอำนาจอย่าได้ทำลายโอกาสและความหวังของประชาชน และ อย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจละวางจากอำนาจ หยุดการสืบทอดอำนาจ เพื่อเห็นแก่ความเป็นปึกแผ่นและความสงบสุขของบ้านเมือง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit