นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย กล่าวว่า คุณสมบัติทางรังสีของซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปรังสี นิยมนำไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว เป็นต้น และใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง ซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีที่พบคาดว่าจะเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม สำหรับอันตรายของวัสดุกัมมันตรังสีที่ตรวจพบนั้น เนื่องจากมีสภาพเป็นของแข็งจึงไม่มีการเปรอะเปื้อนหรือฟุ้งกระจาย จึงมีเพียงความเป็นอันตรายจากการแผ่รังสีออกมา (ความเป็นอันตรายขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ) ซึ่งเมื่อดำเนินการเก็บกู้ออกไปก็จะไม่มีการแผ่รังสีและ รังสีตกค้างในพื้นที่ โดยทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ตรวจสอบเพื่อยืนยันทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินการพบว่าไม่มีการเปรอะเปื้อนหรือฟุ้งกระจายแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการเก็บกู้ไม่มีผู้ใดได้รับรังสีเกินกว่าเกณฑ์กำหนด (20 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง)
นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสี ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ อย่างเช่นกรณีดังกล่าวนี้ มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการจัดการกากกัมมันตรังสี ซึ่งตามมาตรา 79 ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีมีหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีต้องส่งให้หน่วยงานของรัฐจัดการ ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการจัดการกับซีเซียม – 137 ดังกล่าวแล้วอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติตนของประชาชน เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย รวมถึงวิธีการสังเกตและตรวจสอบลักษณะของสิ่งที่คาดว่าจะมีวัสดุกัมมันตรังสีอยู่ภายในเบื้องต้น คือ จดจำลักษณะรายละเอียดเบื้องต้นและห้ามแตะต้องวัสดุนั้นเป็นอันขาด โดยสังเกตลักษณะภายนอกว่ามีสัญลักษณ์ทางรังสี ประกอบด้วย ใบพัดสามแฉก สีม่วงแดงหรือสีดำบนพื้นสีเหลือง หรือมีตัวหนังสือที่อาจประกอบด้วย อักษรตามด้วยตัวเลขปรากฏอยู่ อาทิเช่น Co-60, Cs-137, Ir-192 หรือมีตัวอักษร Bq หรือ Ci ติดอยู่ ให้รีบดำเนินการแจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วน 1296 หรือโทรศัพท์ 08 9200 6243, 0 2596 7699
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit