นายกฤษณะ ธนะธนิต นายกสมาคมศิษย์เก่า คนปัจจุบัน เปิดเผยว่า กิจกรรม "วิ่งสร้างเมือง" หรือ Run for Better City : R4BC เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมจำนวนมาก ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ วิ่งสร้างเมือง2019 ลมหายใจ หรือ ออกซิเจน (O2) โดยทางคณะสถาปัตยกรรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความตั้งใจและมุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง เพราะต้นไม้ล้วนหายใจออกมาเป็นออกซิเจน (O2) คืนกลับมาให้คนเมืองใช้หายใจ
ทางสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้จัดกิจกรรม O2Run: Pre-Running วิ่งสร้างเมือง 2019 ที่พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย บางกระเจ้า จ. สมุทรปราการ โดยจะเป็นการวิ่ง Fun run ระยะสั้นๆ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ร่มรื่นของบางกระเจ้า ผ่านในพื้นที่ที่ทางสมาคมต้องการจะพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งภายในงานมีรุ่นพี่ รุ่นน้อง นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 100 คน ตลอดเส้นทางผู้ร่วมกิจกรรมจะได้พบเห็นสัมผัสความร่มรื่นของธรรมชาติของบางกระเจ้า สถานที่เรียกได้ว่าเป็นปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผังเมืองกรุงเทพมหานคร และจะได้รับ ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของบางกระเจ้าที่พื้นที่สีเขียวได้เริ่มกลายสภาพไป
ภายในงานมีเวทีเสวนาวิ่งสร้างเมือง หัวข้อ "ลมหายใจของคนเมือง โดยมี คุณกฤษณะ ธนะธนิต คุณวรรณพร พรประภา, คุณประกิต พนานุรัตน์, คุณเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์, และ คุณสุกิจ พลับจ่าง ผู้แทนจากบางกระเจ้า มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกัน นอกจากนี้คุณเกี๊ยง เกียรติศักดิ์ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของเพลง "ลมหายใจ" ที่แต่งขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันได้สัมผัสบรรยาการจริงของบางกระเจ้า และเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีที่
จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงบุคคลภายนอกได้รับรู้ภารกิจเพื่อสังคมและส่วนรวมที่ทางคณะฯได้ให้ความสำคัญและเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการวิ่งสร้างเมือง 2019
ด้าน ผศ. รัชด ชมภูนิช ประธานการจัดงานวิ่งสร้างเมือง 2019 กล่าวถึงกิจกรรม วิ่งสร้างเมือง 2019 ตอน: ลมหายใจ Run for Better City 2019 : O2 ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2562 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะแบ่งระยะการวิ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ มินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ระยะไมโครมาราธอน 5 กิโลเมตร และระยะนาโนมาราธอน 2.5 กิโลเมตร โดยเส้นทางการวิ่งจะอยู่ในบริเวณโดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดกิจกรรม ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะนำไปพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อเมืองเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่บางกระเจ้า ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เป็นปอดของเมืองกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลแหล่งสุดท้ายของเราให้คงอยู่เพื่ออนาคตของเมืองและลูกหลานต่อไป