Prof. Philippe Gugler ผู้อำนวยการศูนย์กลางการศึกษาเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน (Center for Competitiveness) มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (The University of Fribourg) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ มีมุมมองเชิงบวกกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความน่าสนใจลงทุนอย่างมาก โดยมีการเติบโตจากตัวการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ามีวิกฤตการณ์ในระดับโลก โดยหากจะพิจารณาจากรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันของโลกหรือ Global Competitiveness Report (GCR) ซึ่งจัดทำโดยเวิลด์ อีโคโมมิก ฟอรั่ม (2018) จะเห็นได้ว่ามีเพียง 3 ประเทศในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ไม่สูง ซึ่งอยู่ใน 40 ประเทศทั่วโลก(จากยอดรวมกว่า 140 ประเทศ) ที่มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดี
โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก และหากนับเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนนั้น จะอยู่ในลำดับที่ 3 ตามหลังประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีพลวัตสูง และเป็นที่พึงพอใจของบริษัทห้างร้านทั้งหลาย อันเห็นได้จากรายงานของธนาคารโลกว่าด้วยเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 26 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ยังตามหลังประเทศไทย โดยอยู่ในลำดับที่ 33
ทั้งนี้ จากรายงานขีดความสามารถการแข่งขันของโลกปี 2561 ระบุตรงกันว่า ประเทศไทยควรยกระดับประสิทธิภาพของสถาบันต่างๆ โดยบริษัททั่วไปจะลงทุนและพัฒนานวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และสถาบันที่มีความโปร่งใส ตลอดจนมีกฏระเบียบที่ชัดเจน และเรื่องหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับระดับการแข่งขันภายในประเทศ คือ ความพยายามในการลดคอร์รัปชั่น ซึ่งในปี 2560 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 96 ของดัชนีภาพลักษณ์ของคอร์รัปชั่น และอันดับที่ 80 ในเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นภายใต้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกปี 2561 รวมถึงการเสริมสร้างการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 99 ภายใต้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกปี 2561
โดยการลงทุนจากบริษัทต่างชาติถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม ประสิทธิภาพ และผลิตภาพของบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเสาะแสวงหาความเป็นเลิศ ข้อจำกัดทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงโดยต่างชาติ ยังมีผลกระทบต่อระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย เช่น ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงสุดของโลกคือสิงคโปร์และสวิสเซอร์แลนด์ ต่างได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยบริษัทต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำเงินทุนมาลงทุนเท่านั้น แต่ยังนำขีดความสามารถด้านนวัตกรรม การศึกษา และการฝึกอบรมสำหรับแรงงานท้องถิ่นด้วย
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีจุดเด่นที่สามารถสร้างโอกาสการเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว ซึ่งจุดที่ไทยมีศักยภาพคือการเป็นผู้นำของกลุ่ม Hi-end Medical Tourism สาเหตุที่ไทยควรดำเนินนโยบาย Hi-end Medical Tourism เนื่องจากมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวในระดับสูงเมื่อเทียบกับทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีความเป็นเลิศของบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และสามารถสร้างขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีได้ โดยรูปแบบของการดำเนินการน่าจะเป็นการจัดตั้งคลัสเตอร์การท่องเที่ยว ซึ่งจะตอบโจทย์และช่วยยกระดับของเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้ในระยะยาว
ประวัติ Prof. Philippe Gugler ผู้อำนวยการศูนย์กลางการศึกษาเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน (Center for Competitiveness) มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (The University of Fribourg) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกำกับนโยบายเศรษฐกิจและสังคม และหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ก
ทั้งนี้ในอดีต Prof. Gugler เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีในคณะนี้ ได้รับรางวัล Hall of Fameของสถาบันการศึกษาเพื่อยุทธศาสตร์และขีดความสามารถในการแข่งขันแห่ง Harvard Business Schoolภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์ไมเคิล พอร์เตอร์ (Prof. Michael Porter) เมื่อปี 2010 เป็นบรรณาธิการวารสารทางวิชาการชื่อ Competitiveness Review ตีพิมพ์โดยสถาบัน Emerald ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 และยังเป็นสมาชิกในคณะกรรมการของสถาบันต่างๆทั้งในสวิสเซอร์แลนด์และต่างประเทศ (อาทิ ประเทศไทย อิตาลีและเนเธอร์แลนด์)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit