นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Healthy Lung Thailand โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เขตสุขภาพที่ 1 กระทรวงสาธาณสุข สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนัก เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พร้อมยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และการเข้าถึงการบริการเพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษา และจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า "โรคหืด หรือที่คนไทยมักเรียกว่าโรคหอบหืด (Asthma) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ (COPD-Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ต่างเป็นโรคทางระบบการหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ พบได้บ่อยในปัจจุบันและประชาชนจำนวนมากยังขาดความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของโรคดังกล่าว รวมไปถึงยังเป็นโรคที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลรักษา โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จึงถือได้ว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับประเทศ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 คาดว่า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดสูงถึง 235 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดจำนวน 383,000 รายในปี พ.ศ. 25581 และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2563 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของประชากรโลก2"
"ในประเทศไทยมีความชุกของโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ และอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มมากขึ้น จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดนอนรักษาในโรงพยาบาล 115,577 ราย เป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 249,742 ราย ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณร้อยละ 7 ของประชากร และพบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกจำนวน 1.5 ล้านราย คาดว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 5 ป่วยเป็นโรคนี้3 นอกจากนี้ จากสถิติพบมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 17,347 ราย ในปีพ. ศ. 2560 และมากกว่าร้อยละ 30 มาจากกรุงเทพฯ และจังหวัดในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน จ.น่าน และจ.พะเยา4 โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้เกิดโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในประเทศไทยคือ การสูบบุหรี่และมลภาวะสิ่งแวดล้อม"
"โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกหนึ่งโรคที่ต้องให้ความสำคัญในการเข้าถึงการดูแลและการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเป็นมาตรฐาน ในสถานบริการสาธารณสุขระดับชุมชน ให้สามารถเข้ารับบริการการดูแลรักษาได้สะดวก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Asthma & COPD) เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดบริการความเป็นเลิศด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Service Excellence NCDs) มุ่งเน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวมในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ5" นายแพทย์มรุต กล่าวเสริม
ด้าน นางอิงก์ กุสุมา ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการในวันนี้ว่า "แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์ยาชั้นนำของโลก มีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาพที่ดี พร้อมกับสนับสนุนการพัฒนา และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทั่วโลก โดยโครงการ Healthy Lung Thailand ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Healthy Lung Asia ซึ่งริเริ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการ Healthy Lung Thailand ที่เปิดตัวในครั้งนี้มีระยะเวลาในการดำเนินงานไปจนถึงสิ้นปี 2562 ภายใต้กรอบแนวความคิด 3 ประการ คือ 1) ความร่วมมือกับหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และให้ความสำคัญในโรค 2) การเสริมสร้างศักยภาพและการเข้าถึงการบริการ 3) การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้แก่ ผู้ให้บริการสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ ในภาครัฐ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น เพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาที่มีระบบบริการที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งเพื่อลดการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิต"
"โดยโครงการฯ ในครั้งนี้บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจาก เขตสุขภาพที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข ในการผลักดันให้เกิด Service Excellence โดยการเพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัย การรักษาโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังภายใต้กิจกรรมให้ความรู้และฝึกอบรมด้านวิชาการ ในการเพิ่มองค์ความรู้ในการรักษาโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการสนับสนุนการตรวจโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวจะร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ โซนล้านนา 1 ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน โซนล้านนา 2 ประกอบด้วย จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน และ โซนล้านนา 3 ประกอบด้วย จ.พะเยา จ.เชียงราย นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายที่จะจัดอบรมวิชาการด้านความรู้เรื่องการจัดการโรคให้กับบุคคลากรทางการแพทย์จำนวน 9,000 คนในสถานพยาบาลปฐมภูมิ และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวน 3,000 คนในโรงเรียนแพทย์ สถานพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2562"
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า "จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2560 พบผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดจำนวน 59,120 ราย และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 16,021 ราย โดยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ สำนักอนามัย ซึ่งมีศูนย์บริการสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 68 แห่งนั้น พบผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี เข้ารับบริการลดลงระหว่างปี 2558 - 2560 เป็นจำนวน 1,352, 1,266 และ 853 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องมาจากการพัฒนาระบบการส่งต่อ สถานพยาบาลในระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรับยาและติดตามต่อเนื่องตามสิทธิดีขึ้น"
"ตั้งแต่ต้นปี 2560 มีศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการ Healthy Lung โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 5 แห่ง เข้าร่วมเป็นศูนย์ฯ นำร่อง ประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ดูแลประชาชน ใน เขตพระนคร วังทองหลาง ห้วยขวาง คันนายาว และ ทวีวัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ โดยพบว่ามีผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการพ่นยาขยายหลอดลม รวมทั้งสิ้นกว่า 200 ราย ซึ่งทุกรายมีความพึงพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิม ทำให้ ได้ผลการดูแลรักษาที่ดีขึ้น"
ด้าน นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า "สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ดูแลสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, โรงพยาบาลตากสิน เขตคลองสาน, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เขตบางคอแหลม, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ เขตหนองแขม, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ เขตหนองจอก, โรงพยาบาลลาดกระบังเขตลาดกระบัง, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค และโรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ เล็งเห็นประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ Healthy Lung Thailand โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจวินิจฉัย รักษา และการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัด ซึ่งคาดว่าการเข้าร่วมโครงการและการร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้โครงการ Healthy Lung Thailand นั้นจะทำให้การบริหารจัดการ และการดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพและรับมือสถานการณ์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit