ไทยร่วมประชุมใหญ่สมัยสามัญ IAEA สมัยที่ 62

21 Sep 2018
ประเทศไทย สมาชิก IAEA ลำดับที่ 58 พร้อม 170 ประเทศสมาชิกทั่วโลก ร่วมประชุมใหญ่สมัยสามัญ (General Conference, GC) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ครั้งที่ 62 ณ สำนักงานใหญ่ IAEA กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17 - 21 กันยายน 2561 โดยชี้แจงการดำเนินงานของไทย พร้อมยืนยันการปฏิบัติตามพันธกรณีของ IAEA รวมถึงสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ
ไทยร่วมประชุมใหญ่สมัยสามัญ IAEA สมัยที่ 62

การประชุมในครั้งนี้มีนายทรงศัก สายเชื้อ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยนายทรงศัก ได้กล่าวถ้อยแถลงซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ และการปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) ร่วมกับ IAEA เพื่อยุติการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมทั้งร่วมยินดีกับพัฒนาการที่ดีขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีและยังคงสนับสนุนการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายด้วยวิธีทางการทูตเพื่อนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่สมบูรณ์และตรวจสอบได้

หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ยังได้แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงาน ในปีพ.ศ. 2561 ของประเทศไทย ดังนี้

  • การเห็นชอบแผนสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศ และแสดงความพร้อมในการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ
  • การจัดทำข้อตกลงด้านนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์กับ IAEA เพื่อยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว และขยายความร่วมมือสู่ระดับภูมิภาค
  • การเข้าเป็นภาคี 3 พันธกรณีสำคัญที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ IAEA ได้แก่ (1) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์ (2) อนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และ (3) อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยของการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี
  • การให้ความสนับสนุนต่อโครงการความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation Programme : TC Programme) ของ IAEA อย่างเต็มที่ โดยรับเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่าง ๆ ถึง 19 ครั้ง และร่วมกับ IAEA เพื่อริเริ่มความร่วมมือในระดับไตรภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

โดยประเทศไทยในฐานะสมาชิก Board of Governors ของ IAEA ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 - 2563 และประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ IAEA พร้อมทั้งผลักดันและยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ IAEA โดยมุ่งหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์ อย่างเป็นทางการระหว่างสององค์กรโดยมี ASEANTOM เป็นกลไกสำคัญในการทำงาน

HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit