ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุน
ฟิทช์ใช้ปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินในการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCBT โดยฟิทช์เชื่อว่า SCBT น่าจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (SCB, A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ a) ในกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวพิจารณาจากบทบาทสำคัญของ SCBT ในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศของกลุ่ม การเชื่อมโยงและการผสานการดำเนินงานในระดับสูงระหว่าง SCBT กับธนาคารแม่ การที่ธนาคารแม่มีอำนาจควบคุมการบริหารงานใน SCBT และการใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่
อย่างไรก็ตามฟิทช์พิจารณาว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญต่อธนาคารแม่น้อยกว่าธนาคารลูกรายอื่นเนื่องจาก SCBT มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารลูกรายอื่นและตั้งอยู่ในตลาดที่มิได้เป็นตลาดหลักในเชิงกลยุทธ์ของ SCB เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อันดับเครดิตสากล (IDR) ของ SCBT จึงอยู่ต่ำกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของ Standard Chartered Bank (SCB) ที่ 'a' อยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้แนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCBT นี้ เป็นแนวทางเดียวกันกับที่ฟิทช์ใช้กับธนาคารลูกของธนาคารต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยรายอื่น
พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT โดยฟิทช์เชื่อว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากธนาคารแม่หรือ SCB ในกรณีที่มีความจำเป็น
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCBT สอดคล้องกับความมีเสถียรภาพของโครงสร้างเครดิตโดยรวมของธนาคารแม่
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร ได้รับการคงอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต-อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT มีปัจจัยในการพิจารณามาจากความแข็งแกร่งของฐานะเงินกองทุน สภาพคล่องที่แข็งแกร่งและมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ในระดับปานกลาง SCBT ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับธุรกรรมด้านธนาคารพาณิชย์ (transactional banking) และธุรกรรมด้านการบริหารเงินและตลาดทุน(financial market) มากกว่าการให้ความสำคัญกับการเน้นบริการด้านสินเชื่อ ซึ่งการปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
SCBT เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยโดยธนาคารมีอัตราส่วน Fitch Core Capital ที่ 39.5% ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2561 แม้ฐานะเงินกองทุนของธนาคารอาจลดลงได้บ้างจากการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงไปยังธนาคารแม่แต่ฟิทช์คาดว่าธนาคารจะยังรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะปานกลางและสมเหตุสมผลกับระดับความเสี่ยงของธนาคาร
นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารยังได้สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตรากำไรของธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะปานกลางเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้และการกันสำรองหนี้สูญที่ลดลง ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารน่าจะลดลงเนื่องจากธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเติบโตด้านสินเชื่อมากนัก อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รายใหม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญและธนาคารมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลที่ 124% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต –อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน SCB อาจส่งผลอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว เนื่องจากจะถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต (country ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-'
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตภายในประเทศอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทย แต่ฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+' อยู่ 1 อันดับ
ฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-Term IDR) ของ SCBT หากฟิทช์มองว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติแก่ SCBT ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากธนาคารแม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือมีระดับการให้การสนับสนุนทางการเงินที่ลดลง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ถึงการลดลงของโอกาสในการให้การสนับสนุนและน่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร การปรับตัวลดลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของ SCBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ฟิทช์เชื่อว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับในระยะปานกลาง เว้นแต่ธนาคารจะมีโครงสร้างเครดิตโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอัตรากำไรและด้านคุณภาพของสินทรัพย์ การเพิ่มขึ้นระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารที่อาจส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์และสภาพคล่องของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างต่อเนื่องและมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับได้เช่นกัน
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit