ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า นาโนเทค สวทช. ตระหนักในความสำคัญของการร่วมมือกับกลุ่มวิจัยที่ทำงานด้านนาโนเทคโนโลยี จึงได้มีการจัดทำโครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2549 โดยในระยะที่ 1 ดำเนินงานในปี 2549-2554 มุ่งเน้นสนับสนุนและสร้างเครือข่ายการวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านนาโนเทคโนโลยี ประกอบด้วย 8 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 8 มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสร้างกลุ่มวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ผลิตผลงาน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้มากกว่า 400 เรื่อง รวมถึงมีส่วนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านนาโนเทคโนโลยี ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นจำนวนรวมกว่า 700 คน
จากนั้นในการดำเนินงานระยะที่ 2 ในปี 2556 -2560 มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายศูนย์พันธมิตรความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี จำนวน 9 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 8 มหาวิทยาลัย สามารถผลิตผลงานในเชิงวิชาการ เช่น การตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 500 เรื่อง สนับสนุนการผลิตบุคลากร นิสิตนักศึกษา ปริญญาโท และปริญญาเอกรวมกว่า 200 คน เกิดผลงานสิทธิบัตรกว่า 40 เรื่อง ตลอดจนเริ่มมีการผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ อาทิ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อการประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับลดก๊าซเรือนกระจก สูตรตำรับยา Povidone Iodine และ เสื้อดมกลิ่นอัจฉริยะ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 3 ในปี 2561 นี้ มุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายวิจัยเฉพาะทางที่ทำงานวิจัยร่วมกัน นาโนเทค สวทช. สร้างฐานเทคโนโลยีและต่อยอดผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการดำเนินงานตามหัวข้อวิจัยในประเด็นมุ่งเน้นของนาโนเทค และ สวทช. ประกอบด้วย 5 ขอบข่ายวิจัยได้แก่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข นาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม นาโนเทคโนโลยีเพื่ออาหารและการเกษตร นาโนเทคโนโลยีเพื่อมาตรวิทยาและการวิเคราะห์ทดสอบ และ นาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน โดยทำงานร่วมกับ 11 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยสิริเมธี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล กล่าวต่อว่า ตัวอย่างผลงานในแต่ละด้านที่จะร่วมกันพัฒนา ใน 3 ปีนี้ เช่น การพัฒนาชุดตรวจติดตามทางการแพทย์ ระบบบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม เซ็นเซอร์แบบพกพาสำหรับการตรวจวัดโลหะหนักและสารปนเปื้อน ระบบอัจฉริยะเพื่อใช้งานด้านการเกษตร ตัวเก็บประจุประสิทธิภาพสูง และ อนุภาคนาโนสำหรับใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการสอบเทียบ เป็นต้น โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากนาโนเทคและมหาวิทยาลัยในโครงการศูนย์เครือข่ายฯ ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรรม (วทน.) ที่จะนำพาประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0
นอกจากการจัดให้มีพิธีลงนามฯแล้ว ภายในงานยังมีการร่วมนำเสนอผลงานวิจัยจากศูนย์เครือข่ายทั้ง 11 แห่ง และการนำเสนอประสบการณ์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ในกิจกรรม Nanovation Talk หัวข้อ "นวัตกรรมนาโนขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0" โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ Bionics Research From Frontier to innovation, Startup เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมมีปัญหา แก้ปัญหาด้วย E Nose, แกลบที่ไร้ค่าสู่อุตสาหกรรมซิลิกานาโนพันล้าน,จากห้องแล็บสู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมนาโนในประเทศไทย, เสริมพลังงานสะอาด ทดแทนการนำเข้าด้วยเทคโนโลยีเคลือบผิวระดับนาโน, ยกระดับอาหารสัตว์โลก Enzyme Protease อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit