"ฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกคน แต่พบปัจจัยเสี่ยงเสมอ

26 Jun 2018
"การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" โดย นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข
"ฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกคน แต่พบปัจจัยเสี่ยงเสมอ

หลังจากโปรโมทไปว่า "การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ....เตรียมพบกับ "Suicide Series" โดย นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ผู้คิดค้นดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าเป็นท่านแรกของเมืองไทย

วันนี้ มาพบกับ ท่านนายแพทย์ธรณินทร์ ซึ่งมีลูกศิษย์มากมายในวงการจิตเวชเมืองไทย เป็นจิตแพทย์ที่มีวิสัยทัศน์ดี โดยทาง กองบรรณาธิการ เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com และ เพจ Sasook ได้รู้จักกับอาจารย์ธรณินทร์ ช่วงรอยต่อระหว่างที่ท่านย้ายจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี มาเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง

สถานการณ์การฆ่าตัวตายทวีคูณรุนแรงมากขึ้น ท่านสละเวลามาถ่ายทอดความรู้ให้แฟนๆ เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com และ เพจ Sasook ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะนักศึกษาด้านจิตวิทยาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน "Suicide series ตอนที่ 1"

ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมามีข่าวของการฆ่าตัวตายของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งข่าวหมอกระโดดน้ำฆ่าตัวตายนักวิชาการสาธารณสุขผูกคอจนเสียชีวิต , ผู้สูงอายุน้อยใจลูกไม่สนใจ ผูกคอจนเสียชีวิต

เชื่อว่าพอทุกท่านได้อ่านข่าวก็จะรู้สึกสลดใจจากนั้นก็จะมีคำถามผุดขึ้นมาในใจว่าเป็นเพราะอะไรทำไมถึงฆ่าตัวตายเขามีเรื่องทุกข์ใจอะไรที่มากจนแก้ไขไม่ได้

ซึ่งคำถามเหล่านี้นักวิชาการ ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะหาคำตอบกันมานานความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในมนุษย์มีเพิ่มขึ้นตามลำดับแต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีทฤษฎีหนึ่งเดียว ที่สามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วนผมจึงอยากจะกล่าวถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในปัจจุบันอย่างง่ายๆดังนี้…

…การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องบังเอิญ …พฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นเหตุการณ์ซับซ้อนมีหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องเช่นปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมปัจจัยทางชีววิทยา ปัจจัยทางจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม

…การฆ่าตัวตายไม่ใช่พฤติกรรมปกติของคนทั่วไป องค์การอนามัยโลกถือว่าการพยายามฆ่าตัวตายเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการป้องกันบำบัดรักษาความคิดฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกคนแต่จะเกิดขึ้นในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ( คำว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายก็คือ …อะไรก็ตามที่คนนั้นมีหรือสัมผัสแล้วจะเกิดโอกาสสูงที่จะมีความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

เช่นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ ติดสุราสารเสพติดป่วยด้วยโรคทางกายที่รุนแรงหรือเรื้อรังมีบุคลิกภาพหุนหันพลันแล่นถูกทารุณทางกายหรือทางเพศในวัยเด็กเป็นต้น)

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ในทางการแพทย์จะเรียกว่ากลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการสำรวจโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตในปี2551 พบว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่15ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายร้อยละ7.3 หรือประมาณ 3.5 ล้านคน

…และจากการวิจัยก็พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายทุกรายมักจะมีความคิดฆ่าตัวตายมาก่อนเสมอในปี 2556 กรมสุขภาพจิตได้สำรวจพบคนไทยอายุตั้งแต่28ปีขึ้นไปมีความคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 3.5 หรือประมาณ 1.8ล้านคนซึ่งนี่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงในคนไทย

…จากการวิจัยธรรมชาติของการฆ่าตัวตายที่ไม่ได้เป็นการอุทิศตนต่อความเชื่อหรือศาสนาหรือพลีชีพเพื่อชาติเพื่อกลุ่มเพื่อเผ่าพันธุ์พบว่ากลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายดังที่กล่าวมาเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น (เช่นประสบปัญหา ในชีวิตที่ทำให้รู้สึกพ่ายแพ้อับอายขายหน้าแล้วรู้สึกอับจนหนทาง

หรืออาการทางจิตของโรคจิตเวชที่เป็นอยู่กำเริบ หรือ เป็นพิษจากสารเสพติดที่เสพ ) จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายเมื่อมีความคิดฆ่าตัวตายแล้วหากเคยพบเห็นหรือเคยทราบวิธีการฆ่าตัวตาย หรือ มีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ฆ่าตัวตาย หรือมีความหุนหันพลันแล่นก็จะนำไปสู่การกระทำเพื่อฆ่าตัวตาย

ผลจากการกระทำอาจถึงแก่ชีวิตหรือพิการหรืออาจเพียงบาดเจ็บซึ่งจากการวิจัยผู้ที่รอดชีวิตจากการพยายามฆ่าตัวตายเมื่อติดตามไประยะยาวพบว่าร้อยละ 10-14 เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในที่สุดนั่น หมายความว่ากลุ่มผู้รอดชีวิตเหล่านี้ก็คือผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จนั่นเอง

… หากผู้อ่านสนใจติดตามหรือได้อ่านข่าวการฆ่าตัวตายก็จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวรายละเอียดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก็จะมีลักษณะเหมือนกับที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น

ติดตาม Suicide series ทาง เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com และ เพจ Sasook ในวันอังคาร และ พฤหัสบดีของสัปดาห์

"ฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกคน แต่พบปัจจัยเสี่ยงเสมอ
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit