ปลุกกระแส SpeakUp SpeakOut เขยิบเสียงให้มันดังขึ้น หยุด...การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ

01 Dec 2017
เดือนพฤศจิกายนของทุกปีได้ถูกจัดความสำคัญให้เป็นเดือนแห่ง "การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เพื่อมุ่งเน้นให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันป้องกัน แก้ไข และยุติปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยองค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล"
ปลุกกระแส SpeakUp SpeakOut เขยิบเสียงให้มันดังขึ้น หยุด...การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ จากสถิติในประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 2558 พบว่า มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 30,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีประมาณ 28,000 ราย และจากสถิติในปี 2558 พบว่าเป็นเด็ก 19,000 ราย และเป็นผู้หญิง 12,000 ราย นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในกลุ่มเด็กร้อยละ 90 เป็นเด็กหญิงที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี โดยการกระทำรุนแรงที่มีสถิติสูงสุด ได้แก่ การกักขัง บังคับ และทุบตี รองลงมาเป็นคดีทางเพศ ได้แก่ การข่มขืน กระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ตระหนักถึงความสำคัญของการการรณรงค์และการแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ต้นแบบของสหประชาชาติในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป้าหมายที่ 16 ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรม ตลอดจนสร้างเสริมสังคมให้มีความสงบสุข

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน TIJ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "SpeakUp SpeakOut" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างสังคมที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยมีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนแปลงมุมมองของคนในสังคมไทยให้ตระหนักว่า การกระทำรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันลดการเกิดปัญหานี้ เพื่อยุติการกระทำรุนแรง และภายในงานมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักศึกษา และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม

นายกิตติภูมิ เนียมหอม ผู้ประสานงานนโยบาย TIJ กล่าวว่า "เป้าหมายสำคัญของ SpeakUp SpeakOut คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม ในกรณีที่ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากการวิจัยของ TIJ พบว่า ในจำนวนของผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนอีกร้อยละ 87 ไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆ และความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด ดังนั้น นอกจากกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงของผู้หญิงเหล่านั้นแล้ว ภาคประชาสังคมก็มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เช่นเดียวกัน"

ด้าน นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เปิดเผยถึงที่มาและแรงจูงใจของการใช้ความรุนแรงว่า "การใช้ความรุนแรงมีรากฐานมาจากระบบคุณค่าของสังคม ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยรูปแบบที่พบมากจะเป็นความรุนแรงทางเพศ ทั้งการข่มขืน แทะโลมด้วยวาจา หรือสายตา การลวนลาม ทำอนาจาร โดยมีสภาพแวดล้อมจากที่เห็นการกระทำรุนแรง รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวที่แฝงด้วยความรุนแรงในสื่อต่างๆ เป็นเครื่องหล่อหลอมให้เข้าใจว่า การกระทำรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นและยอมรับได้ ซึ่งจากการสำรวจความเสี่ยงของผู้หญิงที่อาจถูกกระทำรุนแรงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งพบว่า ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสที่จะถูกกระทำรุนแรงเท่าๆ กัน แต่ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 3 เท่า และหากอยู่นอกมหาวิทยาลัยก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าของผู้หญิงทั่วไป

"การเพิ่มบทลงโทษทั้งทางสังคมและกฎหมายเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ได้ทำให้การใช้ความรุนแรงลดลง การหยุดความรุนแรงอย่างถาวรต้องมาจากการสร้างความเข้าใจกับสังคม และกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นผู้ชอบใช้ความรุนแรง ให้เห็นว่า การกระทำรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทุกคนควรเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ใช้ความรุนแรงไปละเมิดสิทธิคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ควบคู่กับการเสริมพลังให้กับผู้หญิงในฐานะผู้ถูกกระทำ ให้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิ กฎหมาย กระบวนการคุ้มครองสิทธิ และช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สามารถตัดสินใจก้าวออกจากความกลัวมาปกป้องและเรียกร้องสิทธิของตนเองได้อย่างเหมาะสม ร่วมด้วยการรณรงค์ให้ยุติการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมการกระทำรุนแรงโดยปกติไป" นางเรืองรวี กล่าว

นายกิตติภูมิ กล่าวเสริมด้วยว่า "ปัจจุบันการรับรู้และทัศนคติของสังคมเป็นอุปสรรคทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่กล้าแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยเพราะความอับอาย หรือเรื่องตราบาปในชีวิต ที่สำคัญ ผู้หญิงต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ยินยอมในสิ่งที่เกิดขึ้น การที่ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาพูด เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำความยุติธรรมให้ปรากฏ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างความตระหนักในสังคมด้วยว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ "

สำหรับกิจกรรม SpeakUp SpeakOut นั้น TIJ ได้ร่วมกับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women – UN Women) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2558 โดยมีการจัดกิจกรรม "ค่ายเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจ ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนทั้งชายและหญิง มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างสร้างสรรค์ ต่อมาในปี 2559 ได้จัดให้มีการประกวดหนังสั้นภายใต้หัวข้อ "Women l Justice l Society" ร่วมด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ศิลปะแบบ collage เป็นสื่อกลางในการรณรงค์ ด้วยแนวคิด "Her Story" ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี จึงนำมาสู่การจัดกิจกรรมต่อเนื่องของ "Her Story Volume 2 เขยิบเสียงให้มันดังขึ้น" อีกครั้งในปีนี้

นางสาวธารารัตน์ ปัญญา หรือ นุ่น นักศึกษา ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการล่วงละเมินทางเพศจากคนใกล้ชิด ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรม "Her Story Volume 2 เขยิบเสียงให้มันดังขึ้น" ในปีนี้ ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า "ทุกวันนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่มีโอกาสจะรู้ว่าจะถูกกระทำรุนแรงเมื่อไหร่ ในรูปแบบไหน และจากใคร แต่เมื่อตกเป็นเหยื่อจากการถูกกระทำแล้ว เราต้องกล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวออกมาพูดความจริงเพื่อปกป้องตัวเอง ให้คนที่ทำผิดได้รับโทษ อย่าปล่อยให้เรื่องเงียบไปเพราะคำว่าอาย ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองต้องเป็นเหยื่อทางความคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หากยิ่งเงียบ คนทำผิดจะยิ่งได้ใจ และหวนกลับไปก่อเหตุกับคนอื่นๆ ซ้ำอีก เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการกระทำรุนแรงอย่างเป็นปกติในอนาคต

"สิ่งที่ทำร้ายคนที่ตกเป็นเหยื่อไม่ใช่แค่การโดนกระทำ แต่เป็นการที่สังคมรอบข้างไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำหลังจากถูกกระทำ มันเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังก้าวไม่ข้าม ผู้ถูกกระทำถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวที่ต้องต่อสู้กับกระบวนการเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองเพียงลำพัง ขณะที่หลายครั้งที่คนทำผิดได้รับความเห็นใจจากสังคม และมองการออกมา ปกป้องตัวเองของเหยื่อเป็นการทำเกินกว่าเหตุ สามารถรอมชอมไกล่เกลี่ยได้ แต่ถ้ามีคนกล้าออกมาพูดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อหรือคนที่พบเห็นเหตุการณ์ ค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองว่า เป็นเรื่องปกติที่คนสามารถออกมาพูดได้ สังคมก็จะค่อยๆ ขยับไปทีละก้าว และมีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้นในอนาคต" นางสาวธารารัตน์ กล่าว

จุดเปราะบางของสังคมต่อ "การกระทำรุนแรง" ทั้งในผู้หญิงและเด็กหญิงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งที่การกระทำรุนแรงในครอบครัวถูกมองว่าเป็น "เรื่องส่วนตัว" และไม่ได้ถูกดำเนินการไปจนถึงที่สุดของกระบวนการ ยุติธรรมทางอาญา แต่จบลงด้วยการไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุด พวกเธอก็ถูกแรงพิพากษาของสังคมส่งกลับไปสู่วงเวียนของการถูกกระทำรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก

นางสาวโชติรส นาคสุทธิ์ หรือ ลูกแก้ว เหยื่อของการถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว เล่าว่า "เราไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรคือแรงจูงใจของการถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิดในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวมีรายละเอียดอยู่มาก ไม่ใช่เหยื่อทุกคนที่จะกล้าแจ้งความ หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมีเรื่องของความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนในความเป็นครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การออกมาพูดให้ทุกคนได้รู้ว่าปัญหาความรุนแรงนี้มีอยู่จริง ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องตระหนัก และวันหนึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาที่พูดถึงก็จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป"

"องค์กรทางสังคมหรือหน่วยงานภาครัฐที่มีความเข้าใจปัญหานี้ในเชิงโครงสร้าง รวมถึงความเปราะบางของผู้ถูกกระทำจะช่วยให้เหยื่อลดความหวาดกลัว กล้าที่จะก้าวออกมาปกป้องตนเอง และเดินหน้าต่อไปสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความรุนแรงนี้ไม่เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนความคิด ซึ่งถูกปลูกฝังด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ยอมให้ผู้ชายเป็นใหญ่และแสดงความรุนแรงได้ตามอำเภอใจ แต่รวมถึงการสร้างค่านิยมของการรู้จักคุณค่าของตนเองและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือการใช้คำพูด ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกัน" นางสาวโชติรส กล่าวทิ้งท้าย

แม้ความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงยังคงมีอยู่ โดยไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และกับใคร แต่หากทุกคนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการ SpeakUp SpeakOut เขยิบเสียงของพวกเราให้ดังขึ้น เพื่อช่วยผู้ที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำร้าย และยืนหยัดอยู่เคียงข้างผู้เสียหาย ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของความกลัวและความอับอาย กล้าออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง สังคมของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และนำไปสู่การขจัดความรุนแรงได้ในที่สุด

HTML::image(