CHO ผนึกกำลัง KTB – KKTT – JUMPUP เปิดให้บริการทางการเงินผ่านระบบ KTB Digital Platform ดัน”ขอนแก่น” ผงาด! สมาร์ท ซิตี้-ไทยแลนด์ 4.0

01 Nov 2017
บมจ.ช ทวี หรือ CHO ลงนาม MOU "โครงการบริการจัดการทางการเงินผ่านระบบ KTB Digital Platform ในโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (KHONKAEN Smart City)" ร่วมกับ ธ.กรุงไทย (KTB) , ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) และจัมป์อัพ (JUMPUP) เพื่อการสนับสนุนข้อมูลและให้ความร่วมมือระหว่างกันในงานบริหารจัดการทางการเงิน อาทิ ออกบัตร e-Money Card การรับชำระด้วย QR Code ผ่านอุปกรณ์ Smart Device ภายใต้ระบบงานมาตรฐานของ KTB สนองต่อนโยบาย Smart City และThailand 4.0 ของประเทศไทย
CHO ผนึกกำลัง KTB – KKTT – JUMPUP เปิดให้บริการทางการเงินผ่านระบบ KTB Digital Platform ดัน”ขอนแก่น” ผงาด! สมาร์ท ซิตี้-ไทยแลนด์ 4.0

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO) ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถังและติดตั้งระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ผสานเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบราง และโลจิสติกส์เข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการบริการจัดการทางการเงินผ่านระบบ KTB Digital Platform ในโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (KHONKAEN Smart City)" ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) , บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด (KKTT) และ บริษัท จัมป์อัพ จำกัด (JUMPUP)

โดยความร่วมมือกันในครั้งนี้ เกิดจากแผนงานในโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (KHON KAEN Smart City) เพื่อพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็น Smart City ตามนโยบาย Smart City และThailand 4.0 ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทางการเงิน เช่น การออกบัตรเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Card) การรับชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร (Debit & Credit Card) ผ่านเครื่องรูดบัตร EDC (Electronic Data Capture device) การรับชำระด้วย QR Code ผ่านอุปกรณ์ Smart Device เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการให้บริการ และพัฒนาบนพื้นฐานของระบบงานมาตรฐานของ KTB โดยทั้ง 4 ฝ่ายตกลงที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลและให้ความร่วมมือระหว่างกัน

"บริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือและพัฒนาร่วมกันในทุกๆ ด้าน เพื่อร่วมผลักดันโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้และตอบสนองนโยบายด้าน National e-Payment ของภาครัฐ โดยการใช้บัตรแทนการใช้เงินสด เพื่อมุ่งเน้นการลดการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการบริหารจัดการเงินสด เป็นการลดขั้นตอนการทำงานพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ Smart City ให้ดียิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา รวมทั้งหน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ด้วย" นายสุรเดช กล่าวในที่สุด

อนึ่ง ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (Khon Kaen Smart City) เป็นโครงการความร่วมมือที่ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด (KKTT) ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาขอนแก่นให้เป็น Smart City ตามนโยบาย Smart City และThailand 4.0 ของประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มต้นจาก โครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา สายเหนือใต้ สำราญท่าพระจะมีระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 21 สถานี ใช้รถไฟฟ้ารางเบาที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน และการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมในแนวสายรถไฟฟ้ารางเบาไปพร้อมๆ กันกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลทุกอย่างเข้าสู่ระบบเป็น BIG DATA เพื่อวิเคราะห์และร่วมกันพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City อย่างแท้จริงต่อไป