KKTT ชงข้อมูลระบบรางต่อ “ประจิน จั่นตอง” หวังช่วยผลักดันโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนครขอนแก่น ภาคเอกชนยันพร้อมระดมทุนได้ด้วยตัวเอง-เซฟงบประมาณภาครัฐ

20 Jan 2016
บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ชงข้อมูลโครงการขนส่งมวลชนขอนแก่น รองนายกรัฐมนตรี "ประจิน จั่นตอง" หวังช่วยผลักดัน "ระบบขนส่งมวลชนรางเบาขอนแก่น" เข้าหารือฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. คาดใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ภาคเอกชนยันพร้อมระดมทุนได้ด้วยตัวเอง-ลดภาระงบประมาณของภาครัฐ หนุน GPP ขอนแก่น โต 13% ใน 3 ปี
KKTT ชงข้อมูลระบบรางต่อ “ประจิน จั่นตอง” หวังช่วยผลักดันโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนครขอนแก่น ภาคเอกชนยันพร้อมระดมทุนได้ด้วยตัวเอง-เซฟงบประมาณภาครัฐ

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) เปิดเผยว่า ได้นำเสนอรายละเอียดการออกแบบและข้อมูลโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบาขอนแก่นต่อที่ประชุมหารือโครงการฯ โดยมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม

สำหรับโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบาขอนแก่น จะเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) ซึ่งถือหุ้น 51% และบริษัท ช. ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) (CHO) ถือหุ้น 49% นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคฝ่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ กลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการมากกว่า 20 บริษัท เพื่อร่วมใจกันผลักดันโครงการและต้องการจะเห็นโครงการขนส่งมวลชนนี้เกิดขึ้นได้จริงในจังหวัดขอนแก่น

"โครงการขนส่งมวลชนในขอนแก่นนั้นได้นำระบบขนส่งแบบรางเบาเข้ามาใช้ เพื่อแก้ปัญหาจราจรภายในเมืองที่นับวันจะยิ่งประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบรางเบาดังกล่าว จะใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนน ไม่ล้ำพื้นผิวถนน และในบริเวณที่มีพื้นที่เกาะกลางถนนน้อย จะใช้การก่อสร้างแบบยกตัว ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และขอนแก่นสามารถระดมทุนดังกล่าวได้เอง เพื่อลดภาระในการใช้งบประมาณจากทางภาครัฐฯ ให้น้อยที่สุด และหากระบบขนส่งขอนแก่น ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างจริง ประมาณการว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products : GPP) ของขอนแก่นสูงขึ้น 13% ใน 3 ปี" นายสุรเดช กล่าวในที่สุดทั้งนี้ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำแนะนำถึงข้อมูลต่างๆ ที่ยังไม่ครอบคลุม และเน้นย้ำจะนำโครงการเข้าหารือในคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. และจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการต่อไป พร้อมได้กล่าวสนใจเรื่องการสร้าง smart city และฝากให้ทุกฝ่ายในขอนแก่นทำการศึกษาและนำมาพัฒนาเมืองต่อไป

สำหรับระบบรางเบา (TRAM) จะมีการประกอบและผลิตขึ้นเองภายในประเทศ โดยบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน)หรือ CHO บริษัทคนไทยที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานของโครงการนี้ลดลง ประกอบกับโครงการดังกล่าวจะนำเรื่อง Transit Oriented Development (TOD) หรือการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟฟ้าพาดผ่าน เข้ามาร่วมคำนวณความเป็นไปได้ของโครงการอีกด้วย และหากโครงการระบบขนส่งมวลชนรางเบาในขอนแก่นได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างจริง ก็จะส่งผลกระทบทางบวกทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังจะเป็นต้นแบบการจัดการให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้อีกด้วย