18F-PSMA-1007 ความสำเร็จล่าสุดของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัย ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก

28 Feb 2018
จากที่ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เคยเผยถึงความสำเร็จของการผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA ได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเครื่องเพทซีที-สแกนด้วยสารชนิดใหม่ที่ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตขึ้นมาได้สำเร็จเพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยระยะของโรค การกลับเป็นซ้ำ และการติดตามการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เจาะลึกครอบคลุมด้วยประสิทธิภาพความไว และความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
18F-PSMA-1007 ความสำเร็จล่าสุดของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัย ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยล่าสุด รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เผยว่า "ตามที่มีรายงานการศึกษาวิจัยคุณสมบัติที่เหมาะสมของสารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 ระบุว่า สารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 มีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนานกว่า และมีการขับออกทางระบบขับถ่ายปัสสาวะน้อย มีค่า Tumor to background ratio สูง โดยน่าจะมีความไวในการหารอยโรคได้ดีกว่า ดังนั้น ทางศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จึงได้ดำเนินการพัฒนาอีกขั้นสำหรับการผลิตสารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 จากที่ปีที่แล้วเราสามารถผลิต 68Ga-PSMA เพื่อใช้ตรวจในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้ให้บริการตรวจวินิจฉัยให้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก และจำหน่ายสารเภสัชรังสีดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่มีเครื่องเพท-ซีที อย่างไรก็ตาม ด้วยพันธกิจของศูนย์ฯ ที่มุ่งมั่นพัฒนางานด้านการศึกษาวิจัยคิดค้นการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อผลิตสารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 ที่มีการศึกษาพบว่ามีความไวในการหารอยโรคของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ของทางศูนย์ไซโคลตรอนฯ ก็สามารถผลิตสารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 ได้เป็นผลสำเร็จและได้ผ่านการควบคุมคุณภาพ โดยมีการยืนยันการใช้ได้ของสารเภสัชรังสี (Validation) จำนวน 3 ครั้ง และผ่านการตรวจวิเคราะห์ควบคุณคุณภาพคุณสมบัติของสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมยกระดับศักยภาพของการผลิตสารไปอีกขั้น โดย 18F-PSMA-1007 เป็นสารเภสัชรังสีลำดับที่ 10 ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ทางศูนย์ฯสามารถผลิตและให้บริการได้ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยสารเภสัชรังสี 18F-PSMA-1007 ในเดือนมีนาคม 2561 นี้"

นอกจากนี้ทางศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังได้จัดโครงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีเพท-ซีที สแกนในอัตราพิเศษตลอดปี 2561 อาทิ ตรวจวินิจฉัยระบบประสาทด้วยเครื่องเพท-ซีทีราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และ ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพท-ซีทีอนุพันธ์น้ำตาล FDG ราคา 20,000 บาท ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงที่คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ โทร. 02-574-3355 หรือ 087-694-7559

18F-PSMA-1007 ความสำเร็จล่าสุดของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัย ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก