รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทซีที เผยว่า "การผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA (Gallium-68 Prostate Specific Membrane Antigen) โดยศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเครื่องเพทซีที-สแกนด้วยสารชนิดใหม่ล่าสุดที่ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยระยะของโรค การกลับเป็นซ้ำ และการติดตามการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเจาะลึกครอบคลุมด้วยประสิทธิภาพความไว และความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด"
"มูลเหตุของการผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA มีนัยสำคัญคือ สาร PSMA เป็นโปรตีน Transmembrane ที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก (Prostate) ซึ่งมีการวิจัยอย่างแพร่หลายว่ามักพบในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโรคต่อมลูกหมากโต (BPH - Benign Prostatic Hyperplasia) จากผลงานวิจัยทางคลินิกในต่างประเทศได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของใช้เทคโนโลยีเพท-ซีที สแกนด้วยสาร 68Ga-PSMA เมื่อเทียบกับการตรวจวินิจฉัยภาพทั่วไป หรือเมื่อเทียบกับสารเภสัชรังสีตัวอื่นๆ ว่ามีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนในการตรวจสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดย 68Ga-PSMA มีประสิทธิภาพความไวในการบอกระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด หรือการฉายแสง ประเมินการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้เพื่อติดตามการรักษา รวมทั้งสามารถใช้กำหนดตำแหน่งในการเจาะชิ้นเนื้อในกลุ่มที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมาก"
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา กล่าวว่า "68Ga-PSMA จึงเป็นสารเภสัชรังสีตัวล่าสุดที่ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการผลิตเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 ภายใต้การดูแล ควบคุม และให้คำปรึกษาจาก Prof.Eyal Mishani, Ph.D. ที่ปรึกษาของศูนย์ฯ ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้จัดซื้อเครื่องผลิตสารเภสัชรังสีแกลเลียม-68 (Gallium-68 Generator) ที่ได้คุณสมบัติ GMP สำหรับโครงการดังกล่าว ทำให้ทางศูนย์ฯสามารถสังเคราะห์สาร แกลเลียม-68 ได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้เทคนิคของการทำเพทสแกนที่สร้างภาพจากการวัดประมาณรังสีโพสิตรอน (Positron) โดยเรานำสารเภสัชรังสีแกลเลียม-68 ที่ผลิตได้ไปติดสลากกับสารประกอบที่มีความจำเพาะต่อการตรวจระดับการทำงานของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากนั่นก็คือสาร PSMA (Prostate specific Membrane Antigen) โดยสารเภสัชรังสีที่เตรียมขึ้นนี้ มีการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด เพื่อใช้นำไปฉีดให้กับผู้ป่วยและวัดความเข้มข้นของรังสีในรอยโรคที่สงสัยด้วยเครื่องเพท-ซีที สแกน ณ ปัจจุบันส่วนงานผลิตสารเภสัชรังสีสามารถผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว และผ่านการควบคุมคุณภาพ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการผลิตเพื่อการจำหน่าย และเพื่อการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพท-ซีทีให้กับผู้ป่วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 นี้"ทางด้าน นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หัวหน้างานอายุรกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทยว่าเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยจะพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และหากบุคคลในครอบครัวหรือมีญาติสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทายาทก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ปริมาณฮอร์โมนเพศชายหรือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่สูงขึ้น ก็มีส่วนในการเพิ่มอัตราเร็วของการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมากเช่นกัน โดยปกติโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจัดเป็นโรคเงียบ ที่แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ก่อน แต่ก็พอมีข้อสังเกตให้เห็นเบื้องต้นได้เช่นกัน เช่น การถ่ายปัสสาวะกะปริบกะปรอย แสบหรือเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง ถ่ายปัสสาวะมีเลือดปน และปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ส่วนในรายที่มะเร็งลุกลามออกไปนอกต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพกหรือต้นขา ปวดไหล่ หรือปวดกระดูกบริเวณอื่น น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง และอาจมีอาการอื่นๆ แล้วแต่ว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ใด อย่างไรก็ตามในโรคบางโรค เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้เทคโนโลยีเพท-ซีที สแกน จึงมีประโยชน์ในแง่ของผู้ป่วยกลุ่มที่สงสัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และสามารถดูการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากมีความไวในการบอกระยะของโรค ซึ่งจะช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถวางแผนการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน ที่สามารถจำหน่ายสารเภสัชรังสีให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีเครื่องเพท-ซีที อีกทั้งให้บริการตรวจเพท-ซีที สแกนแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนางาน และมีการศึกษาวิจัยคิดค้นการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนฯ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีได้ทั้งหมด 8 ตัว ประกอบด้วย
18F-FDG สำหรับการตรวจโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท โรคทางสมอง โรคลมชัก และโรคหัวใจ
18F-FDOPA สำหรับการตรวจโรคมะเร็งเน็ต หรือเนื้องอก Neuroendocrine และโรคพาร์กินสัน
11C-PiB และ 18F-THK 5351 สำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์
11C-Erlotinib สำหรับตรวจการกลายพันธุ์ของเนื้องอกในผู้ป่วยมะเร็งปอด
11C-Choline สำหรับการตรวจโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
18F-FLT สำหรับการตรวจโรคทางระบบประสาท โดยแยกการกลับเป็นซ้ำของเนื้องอกในสมองออกจากการตายของเนื้อเยื่อจากการรักษาด้วยรังสี
68Ga-PSMA สำหรับการตรวจในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก
ด้วยพระกรุณาธิคุณในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงปรารถนาให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นเลิศทั้งทางด้านวิชาการ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ และการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการร่วมกันช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วย ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ จึงได้มุ่งมั่นที่จะสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธาน และภายใต้ภารกิจในด้านของการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยสำหรับการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ในปีนี้ทางศูนย์ฯจึงได้จัดโครงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีเพท-ซีที สแกน ในอัตราพิเศษตลอดปี พ.ศ. 2560 เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงที่คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-574-3355 หรือ 087-694-7559
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit