พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ตรงส่วนล่างของกลางลำคอ ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้ากระแสเลือด ส่งไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง(Pituitary gland) และต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) โดยร่างกายจะมีระบบการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างดี เพื่อรักษาระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นไทรอยด์ 85% ของโรคไทรอยด์นี้โดยมากเกิดขึ้นเองเฉพาะรายบุคคลไม่ได้มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่ก็มีโอกาสประมาณ 15% ที่อาจมียีนส์ถ่ายทอดมา อาการของโรคมีได้หลายรูปแบบ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แบ่งออกได้เป็น
1.ต่อมไทรอยด์โต แต่ยังทำหน้าที่ได้ปกติ โดยก้อนจะโตขึ้นและมองเห็นเป็นก้อนได้จากภายนอกบริเวณด้านหน้าของลำคอ ที่สังเกตคือ ก้อนที่เกิดขึ้นบนต่อมไทรอยด์จะมีการขยับเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ตามจังหวะที่เรากลืนน้ำลาย โดยมักมีสาเหตุจากขาดเกลือแร่ไอโอดีน ต่อมไทรอยด์จึงเพิ่มปริมาณเซลล์ให้มากขึ้น ต่อมจึงมีขนาดโตขึ้นหรือเกิดเป็นตะปุ่มตะป่ำหรือมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้น จึงเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานเกินหรือไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาจมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จึงเกิดอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ดังนั้นหากพบก้อน แพทย์จะต้องวินิจฉัย แยกโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
2.ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism )เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป การรักษาแบ่งออกได้เป็น การกินยาต้านไทรอยด์ ซึ่งมียา 2 แบบด้วยกัน คือ โพรพิลไทโอยูราซิล(PTU), เมทิมาโซล(MMI) จะออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน การรักษาด้วยยานี้ต้องระวังผลข้างเคียงของยาได้แก่ ไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ ผื่น ตับอักเสบได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด การกลืนแร่ไอโอดีน ซึ่งแร่ไอโอดีนจะเข้าไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ได้ผลเร็ว ขณะที่การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ วิธีนี้จะใช้ผ่าในผู้ป่วยที่มีก้อนโตมากๆ มีอาการกลืนลำบากหรือหายใจลำบากร่วมด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลเร็วที่สุด ผลข้างเคียงอาจเกิดได้คือ อาจเกิดอาการเสียงแหบได้
3.ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่ในระดับที่น้อยเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย การรักษาคือการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชย อาการที่พบได้เมื่อต่อมไทรอยด์เกิดความผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น สมาธิสั้น เครียด นอนไม่หลับ เฉื่อยชา ไม่ค่อยมีแรง เป็นตะคริวง่าย น้ำหนักเพิ่มขึ้น ผิวหนังแห้งหยาบฯลฯ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วโรคไทรอยด์ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมีน้อย แต่หากปล่อยไว้และไม่รับการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
นพ.ภาสกร ถาวรนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 4:1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5-10% สาเหตุของการเกิดก้อนเนื้อพบได้หลายสาเหตุ อาทิ เนื้อของไทรอยด์ที่โตมากกว่าปกติ ซีสต์ในต่อมไทรอยด์ เนื้องอกธรรมดา หรือมะเร็งของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น หากพบว่าต่อมไทรอยด์มีอาการโต อาจทำการผ่าตัดออกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์ แนวทางการรักษาอาการต่อมไทรอยด์โตในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง มีข้อบ่งชี้เช่น 1.ผู้ป่วยมีความกังวลเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดหรือโตขึ้นเร็ว และ2.ก้อนมีขนาดใหญ่ อาจไม่ใหญ่มาก แต่ตำแหน่งมีไปกดเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหาร การผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งสามารถตัดต่อมไทรอยด์ออกได้หมดรวมถึงสามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองได้ด้วยในบางกรณี แต่ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นบริเวณลำคอ หลังการผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซ กดใต้คางประมาณ 2 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดคั่ง หลังจากนั้นจึงแกะผ้าก๊อซออกได้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกขัดๆ ตึงๆ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ และควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้ หลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การออกแรงมากๆ การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดปริออกได้ ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ไม่ควรรับประทานอาหารที่แข็งหรือรสเผ็ดหรือจัดเกินไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ในปัจจุบันการผ่าตัดไทรอยด์ มักมีเหตุผลในเรื่องความสวยงามเข้ามาเป็น การที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ก็มักจะมีคำถามในเรื่องแผลผ่าตัดว่าเป็นอย่างไร ถ้าก้อนหายไปแต่ได้แผลที่คอมาแทน ผ่าตัดแล้วแผลไม่สวย จึงมีการผ่าตัดแบบแผลเล็กผ่านกล้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็นที่คอ
นพ.ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล ศัลยแพทย์ศีรษะ คอ เต้านม และ ไทรอยด์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยการพัฒนาเทคนิคในการผ่าตัดไทรอยด์มีความก้าวหน้า เทคนิคการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก แบบไร้แผลเป็น (Scarless thyroidectomy) เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นกังวลเรื่องแผลผ่าตัดบริเวณคอ วิธีนี้จะไม่มีแผลเป็นภายนอกหลังการผ่าตัดเพราะซ่อนแผลไว้ในปาก โดยแพทย์จะพิจารณารูปแบบการผ่าตัดตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เหมาะสำหรับคนที่มีความกังวลในเรื่องความสวยงาม และไม่อยากให้มีแผลเป็นบริเวณลำคอ การผ่าตัดผ่านกล้องจึงช่วยลดความกังวลในเรื่องนี้ ทั้งนี้มีข้อบ่งชี้ในคนไข้ที่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็นภายนอกได้คือ 1.มีผลการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) พบว่าขนาดก้อนของไทรอยด์ที่โตต้องมีขนาดไม่เกิน 4-6 ซม. 2.ผู้ป่วยต้องไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดที่บริเวณคอ หรือ เสริมคางมาก่อน 3.ผู้ป่วยไม่เคยรับการฉายแสงบริเวณคอมาก่อน 4.ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องคือ แพทย์จะเจาะ 3 รู เพื่อใส่กล้องเข้าไป การผ่าจะเข้าตรงกลางด้านล่างช่องปาก 10 มิลลิเมตร และรูละ 5 มิลลิเมตร 2 รู โดยแพทย์จะค่อยๆ เลาะกล้ามเนื้อด้านในเข้าไปซึ่งในส่วนที่เลาะนี้จะสามารถประสานกันเองภายหลังผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดไทรอยด์ แบบส่องกล้องทางปากไร้แผลเป็น คือไม่มีแผลเป็นที่คอและซ่อนแผลไว้ในปาก สามารถมองเห็นเส้นเสียงด้วยขนาดที่ขยายจากกล้อง ทำให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นและลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเส้นเสียง ภาวะแทรกซ้อนน้อย แผลหายเร็ว เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน หลังผ่าเสร็จสามารถรับประทานอาหารอ่อนได้ในวันรุ่งขึ้น หลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำหรับโรคไทรอยด์ หากมีก้อนเกิดขึ้นมาบริเวณลำคอควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาให้หายขาด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit