แก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ทต.ไผ่กองดินได้ผล เมื่อ 3 ชุมชนผนึกกำลังมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง คว้าแชมป์จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานะชุมชนมีส่วนร่วมทำให้ขยะลดลง
ปัญหาขยะล้นเมืองต้องแก้ที่ตัวเรา นี่คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาขยะที่เทศบาลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจำนวน 1 ตันต่อวัน ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการจัดการขยะ เช่นเดียวกับหลายๆ ท้องถิ่น ที่ไม่สามารถบริหารจัดการขยะเองได้ จึงนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเป็นเงินจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป หรือขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขยะอันตรายและขยะรีไซเคิล เมื่อมีโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ภายใต้กรอบทิศทางการสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 23(4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี เสนอให้อปท.ทุกแห่งส่งชุมชนเข้าประกวด ทางเทศบาลตำบลไผ่กองดินจึงไม่รอช้าสมัครเข้าร่วมโครงการในทันที เล็งเห็นประโยชน์ขยะลด และสร้างจิตสำนึกให้ชุมชน
เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เทศบาลไผ่กองดิน จึงได้มอบหมายให้นางมณทิพา ศรีท้าว ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยนางมณทิพา เล่าให้ฟังว่าโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาชนในการคัดเยกขยะที่ต้นทางเพื่อรองรับการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน (1 พ.ย.2558 - 31 ธ.ค.2559) เทศบาลได้ทำการคัดเลือก 3 ชุมชน ครอบคลุมหมู่ที่ 3 และหมูที่ 4 เนื้อที่ 2,187.5 ไร่จำนวน 42ครัวเรือน มีเป้าหมายเพื่อให้มีชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะที่ต้นทาง อย่างน้อยจำนวน 1 หมู่บ้าน/ชุมชน 2.ปริมาณขยะที่นำไปกำจัดหลังจากการดำเนินโครงการ ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบ และที่สำคัญโครงการนี้ ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการทำโครงการจริงๆ "โครงการนี้ ถ้าชุมชนไม่มีส่วนร่วมทำไม่ได้ค่ะ เพราะเขาต้องให้ชุมชนเซ็นต์ยินยอมว่าจะทำโครงการนี้ เราเป็นเพียงคนขับเคลื่อน ประสาน ภายใต้คณะกรรมการที่เราคัดเลือกจากชุมชนทั้งหมด เราดึงเข้ามาทั้งหมดทั้ง โรงเรียน กศน. วัด รพ.สต. ปราชญ์ชุมชน ประธานชุมชน" ผู้อำนวยการกล่าว
ผลการดำเนินโครงการปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดหลังจากดำเนินโครงการฯ ลดลงร้อยละ 35 ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยการรณรงค์ผ่านกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล และขยะรีไซเคิลแลกบุญ โดยจัดตั้งตะแกรงเพื่อให้ประชาชนสามารถนำขยะรีไซเคิลมาร่วมกิจกรรมได้ ในจุดต่างๆ ในชุมชน เกิดฐานการเรียนรู้ในชุมชน ชุมชนที่ 1 บ้านต้นแบบในด้านการจัดขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล ได้แก่ บ้านอาจารย์รำรวล มยุรา บ้านอาจารย์ประไพ สุพัฒธี บ้านนางสาวศุภิสร วงศ์ศิลป์ชัย ชุมชนที่ 2 ชุมชนต้นแบบในด้านการจัดการขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล ได้แก่ บ้านนางยุพิณ ทรัพย์พันธ์ (ศูนย์สมุนไพรพอเพียง) โรงเรียนวัดช่องลม (ธนาคารขยะรีไซเคิล) ชุมชนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์รวม ได้แก่ บ้านนายสุนทร เจริญผล บ้านนายประจวบ กลั่นศรี
เมื่อชุมชนร่วมแรงร่วมใจ เทศบาลหนุนเสริมเต็มกำลัง ที่สำคัญไม่ได้ทำเพื่อหวังเพียงรางวัลเท่านั้น แต่หวังเพื่อให้บ้านตนเองสะอาดขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับมาน่าชื่นใจ เมื่อผลการประเมินจากคณะกรรมการแจ้งกลับมาที่เทศบาลว่าโครงการนี้ ผู้ได้รางวัลที่ 1 ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี คือ เทศบาลตำบลไผ่กองดินนั่นเอง "ที่เขาถูกใจที่นี่เพราะ 1. ชุมชน เพราะชุมชนทำแล้วมีความสุข ชุมชนมีส่วนร่วม เพราะวันที่คณะกรรมการได้ลงไปตรวจเขาได้เห็นจริงๆ ว่าชุมชนทำจริงๆ คือเขาเห็น เขาเชื่อว่าชุมชนทำ เพราะชุมชนให้ความร่วมมือ คณะกรรมการยังบอกว่าถ้าเรารักษาตรงนี้ไว้ได้ การทำงานทุกเรื่องเราจะได้เปรียบ และที่สำคัญทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาร่วมกันหมดเลย ชุมชนเวลาเขามาเจอคณะกรรมการเขามีความสุข เขาภูมิใจที่ได้มาทำงานตรงนี้ พอชาวบ้านรู้ว่าได้ที่ 1 เขาก็ดีใจ บอกว่าหายเหนื่อยกับที่ทำมา"
นายพัสกร อุ่นอ่อน ปลัดเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการกล่าวว่า..."เราไม่ได้คาดหวัง แต่อยากปลุกกระแสให้ชาวบ้านเขารู้จักการแยกขยะ ลดขยะเท่านั้น ก็คิดว่าพอได้ผล ก็มาคุยกับท่านนายก (นายทีฆโชติ งามถาวรวงษ์) ให้ทำโครงการต่อในลักษณะเพื่อนชวนเพื่อน ก็จำแนวคิดจากอาจารย์ทรงพล ว่าไม่ต้องใหญ่ เริ่มจากเล็กๆ ก่อน ถ้าเล็กๆ แล้วโอเคเดี๋ยวก็ขยายไปเอง เรามีต้นแบบในพื้นที่เราแล้วมันก็สะดวก"
อาจารย์ปรีชา บุญเสถียร จากโรงเรียนวัดช่องลม ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เผยว่า.." โรงเรียนเป็นธนาคารขยะ มีนักเรียนเข้าร่วม 15 คน มีหน้าที่รับขยะนำมาคัดแยกและไปโรงแยกขยะ และทำน้ำหมักชีวภาพ ทางโรงเรียนมีผักที่แม่ครัวทำอาหารที่เหลือก็นำมาทำ ทำมา 1 ปี ขยะในโรงเรียนลดลง เด็กๆ สามารถแยกขยะได้ ตอนนี้เศษใบไม้เราไม่ทิ้งเอาไปทำปุ๋ย ความคาดหวังต่อโครงการนี้ คือทำให้ขยะลดลงให้มากที่สุดและการปลุกจิตสำนึกนักเรียน"
นี่คือความภาคภูมิใจในพลังของของชุมชน และคือความภาคภูมิใจของเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ นางมณทิพา ได้ย้ำถึงความสำเร็จนี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนักถักทอชุมชนได้นำสิ่งที่เรียนรู้กับอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส.ผู้ซึ่งทำหน้าที่วิทยากรให้ความรู้ นำมาปรับใช้ในการทำงานและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและครอบครัวจนเกิดผลดีกับตนเอง "การดำเนินโครงการนี้ เป็นสิ่งที่เรานำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรนักถักทอชุมชนมาปรับใช้ เราต้องรู้ด้วยว่าบ้านนี้ ชุมชนนี้จะต้องไปจัดที่บ้านไหน ทำกับใคร คือเราจะไปคิดเองไม่ได้ เราต้องเห็นก่อนเขียนโครงการแล้วว่าลงชุมชนนี้แล้วเราทำได้ ถ้าไม่มองตรงนี้ ถ้าเราได้งบมา เราก็ทำไม่ได้ เพราะบางที่ เป็นปัญหาคือได้งบมาแล้วชุมชนไม่เอา ทำไม่ได้ เหมือนที่อาจารย์ทรงพลบอกให้เขาเห็นประโยชน์แล้วเขาก็จะทำ" นางมณทิพา กล่าวทิ้งท้าย
เทศบาลตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แม้ว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่การเรียนรู้ที่ได้จากหลักสูตรนักถักทอชุมชน กับบทบาท "นักถักทอชุมชน" ยังขับเคลื่อนอยู่ในหลายพื้นที่ ได้นำความรู้ที่ได้มาช่วยกัน "ถักทอชุมชน" ให้เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับที่ทต.ไผ่กองดินได้ทำให้เห็นแล้วนั่นเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit