"การเรียนรู้ที่ได้ผล เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริงในสถานที่จริงหรือแหล่งเรียนรู้ที่ดี เพื่อจะได้ฝึกคิด วิเคราะห์ และไตร่ตรอง นี่คือวิธีการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องอ่านตำรา"
จากความเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ข้างต้น ส่งผลให้ "ครูเกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม" จาก โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ไม่เคยใช้ห้องสี่เหลี่ยมเป็นห้องเรียนเลยไม้แต่ครั้งเดียวในชีวิตความเป็นครูตลอด 34 ปี แต่สถานที่การเรียนรู้ของเด็ก กลับเป็น "ป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียน"
"ยุคหนึ่งบางขุนเทียนชายทะเลมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งการกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้แผ่นดินหาย พื้นที่วังกุ้งธรรมชาติเปลี่ยนเป็นบ่อกุ้งที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อน ซึ่งการแก้ไขต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นหลัก แต่การเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ทำได้ยาก ภารกิจสำคัญจึงเป็นการสอนให้เด็กๆ ที่ต้องเติบโตไปและสืบทอดอาชีพของครอบครัว สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นต้นทุนสำหรับเลี้ยงชีพได้" ครูเกรียงศักดิ์กล่าว
"ครูเกรียงศักดิ์" จึงได้ออกแบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ในวิชาเกษตรกรรมไว้อย่างน่าสนใจ ในแต่ละคาบเรียนนักเรียนจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันบริเวณป่าชายเลน ทั้งการเลี้ยงกุ้ง หอย ปู และปลาน้ำเค็ม ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้หลักคิดสำคัญคือ "ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์น้ำที่ขาดไม่ได้"
นอกจากการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ให้แก่เด็กๆ แล้ว "ครูเกรียงศักดิ์" ในวัย 55 ปี ยังได้ขยายแนวคิดการอนุรักษ์สู่ชุมชน โดยเริ่มจากการรณรงค์ให้หยุดตัดไม้ริมป่าชายเลน การทิ้งขยะลงทะเล หยุดการเบื่อและช็อตปลา ฯลฯ พร้อมชักชวนชุมชนให้ร่วมกันทำแนวไม้ไผ่ลดแรงคลื่น ช่วยชะลอการกัดเซาะชายฝั่งอย่างได้ผล นำไปสู่การรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อก่อตั้ง "กลุ่มอนุรักษ์ทะเลกรุงเทพฯ" ขึ้น และพัฒนายกระดับเป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นเครือข่ายตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนไม่น้อยกว่า 7 จังหวัด
"เด็กๆ ต้องรู้จักต้นกำเนิดของตนเองให้ถ่องแท้ จึงจะสามารถรักษาให้คงอยู่ต่อไปได้ ป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรมลงกลับมาอุดมสมบูรณ์มากขึ้นด้วยกระบวนการเรียนรู้ เพราะเด็กทุกคนจะได้ช่วยกันทำสะพานยื่นลงไปในแนวป่าชายเลนและปลูกต้นโกงกาง ซึ่งเด็กจะได้ประจักษ์แก่ตาตัวเองว่า รากของโกงกางช่วยกรองน้ำที่สกปรกให้สะอาดก่อนไหลกลับสู่ทะเล เกิดที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติ นี่คือกระบวนการสอนที่เด็กๆ จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นฐานของตนเองที่ต้องช่วยกันรักษาไว้" ครูเกรียงศักดิ์ระบุ
สำหรับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี" เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดให้มีการมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยจะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit