กรมปศุสัตว์ มั่นใจมาตรฐานอาหารปลอดภัย ดันเป้าสัตว์ปีกส่งออกปีนี้ 7.6 แสนตัน มูลค่า 98,000 ลบ.

03 Apr 2017
กรมปศุสัตว์ เร่งผลักดันการผลิตสินค้าปศุสัตว์ทั้งระบบภายใต้มาตรฐานสากล เพื่อครองความเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั่วโลก สร้างโอกาสบุกตลาดในหลายประเทศที่มีความเข้มงวดด้านมาตรฐานสินค้าสูง มั่นใจปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ได้ตามเป้า 7.6 แสนตัน นำรายได้เข้าประเทศ 98,000 ล้านบาท
กรมปศุสัตว์ มั่นใจมาตรฐานอาหารปลอดภัย ดันเป้าสัตว์ปีกส่งออกปีนี้ 7.6 แสนตัน มูลค่า 98,000 ลบ.

น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากข่าวเจ้าหน้าที่สืบสวนบราซิล จับกุมพนักงานบริษัท JBS และ BRF ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของบราซิล ในข้อหาจ่ายสินบนพนักงานตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้เนื้อสัตว์ปนเปื้อนของบริษัทผ่านการตรวจสอบและนำไปจำหน่าย รวมทั้งส่งออก การจับกุมดังกล่าวจึงส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระบบการตรวจสอบของบราซิลที่เป็นผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของโลก

สำหรับประเทศไทย กรมปศุสัตว์ยืนยันว่ามีความเข้มงวดในการตรวจสอบและกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ตลอดกระบวนการ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและทั่วโลก โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ พัฒนาระบบการผลิตให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเนื้อไก่ของไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งไทยถือเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) มีตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นและอียู คิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งหมด ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ให้ความสำคัญด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารในระดับสูง มีกฎระเบียบในการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่มีคุณภาพปลอดภัยและปลอดสาร และไทยถือเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และปศุสัตว์รายใหญ่ในอาเซียน ที่เป็นต้นแบบทั้งด้านมาตรฐานการผลิต การป้องกันโรค และมาตรฐานการส่งออก

โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์ควบคุมการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดวงจร ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตสัตว์ อาทิ วัตถุดิบอาหารสัตวทั้งที่ผลิตได้ไนประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ และกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ขณะเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์ปีกได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานสากล โดยมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่ผ่านการฝึกอบรมและขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ควบคุมการจัดการตามหลักวิชาการและหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งขั้นตอนการเลี้ยง การจับสัตว์ การขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลและเฝ้าระวังสัตว์ป่วยอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ กระบวนการในโรงฆ่าสัตว์และการชำแหละเนื้อสัตว์ ตลอดจนโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ก็มีมาตรฐาน GMP และ HACCP เช่นกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำโรงงานที่ดูแลตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การโหลดสัตว์หน้าลาน การทำให้สลบก่อนการฆ่าด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการควบคุมโรคที่เข้มงวด ด้วยการตรวจสัตว์ก่อนฆ่า (Antemortem) และการตรวจซากหลักฆ่า (Postmortem) เพื่อตรวจเนื้อสัตว์ว่ามีความปลอดภัย ปลอดสาร และเหมาะสมกับการบริโภค ซึ่งการดำเนินการตรวจสอบทั้งหมดจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และการตรวจสอบภายในของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งเนื้อไก่ที่บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก

"มาตรฐานการผลิตปศุสัตว์ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้สินค้าเนื้อสัตว์เป็นที่ต้องการของคู่ค้าสำคัญทั้งญี่ปุ่น อียู และประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันยังมีตลาดใหม่ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและการดำเนินการด้านความปลอดภัยในอาหารที่เข้มแข็งของเรากระทั่งเปิดตลาดสินค้าให้กับไทย อาทิ นิวซีแลนแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารในระดับสูง มีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด ได้อนุญาติให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อเป็ดปรุงสุกไปยังนิวซีแลนด์ได้ รวมถึงเกาหลีใต้และสิงคโปร์ที่เปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นของลูกค้า จึงมั่นใจว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าปีนี้จะได้ตามเป้าหมาย 7.6 แสนตัน สร้างรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 98,000 ล้านบาท" น.สพ.สรวิศ กล่าว

ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ปี 2560 เป็น"ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรเกษตรสู่ความยั่งยืน" กรมปศุสัตว์ได้เร่งขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์สู่มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นทั้งฟาร์มโคนม โคเนื้อ ไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ และสุกร พร้อมพัฒนาโรงฆ่าสัตว์สู่มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดทั้งเรื่องการตรวจสอบและให้ใบรับรองเพิ่มขึ้น ตลอดจนฝึกอบรมผู้ประกอบการและอบรมพนักงานตรวจโรคสัตว์เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

HTML::image(