ระยะที่ 1 ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นนำเข้า อาทิเช่น ยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาค ปตท. เปิดบริการโครงสร้างพื้นฐาน LPG (ท่าเรือนำเข้า คลัง ท่อ) แก่ผู้นำเข้ารายอื่น และเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า
ระยะที่ 2 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้าให้ผู้ประกอบการรายอื่น (นอกเหนือจาก ปตท.) ด้วยระบบโควตาโดยใช้ราคานำเข้าที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ระยะที่ 3 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้าให้ผู้ประกอบการรายอื่น (นอกเหนือจาก ปตท.) ด้วยระบบโควตา โดยใช้ราคานำเข้าที่ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่ง X เป็นสูตรคงที่อ้างอิงกับดัชนีที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการขนส่งและจัดหาซึ่งปรับตามตลาดโลก
ระยะที่ 4 เปิดการประมูลการนำเข้าก๊าซ LPG เมื่อมีผู้ค้ามาตรา 7 สามารถนำเข้าได้มากกว่าหนึ่งราย และประสงค์จะนำเข้ามากกว่าปริมาณนำเข้าที่ประเทศต้องการ
ในเดือนมีนาคม 2559 บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึง ธพ. เพื่อขอนำเข้าก๊าซ LPG เป็นเวลา 3 เดือน โดยจะนำเข้ามาในปริมาณเที่ยวละ 22,000 ตัน จำนวน 2 เที่ยว/เดือน และสามารถเริ่มนำเข้าได้ในเดือนพฤษภาคม 2559 แต่ ธพ. เห็นควรให้ชะลอคำขอออกไปก่อน เนื่องจากรอการพิจารณาค่าบริการและกฎระเบียบการใช้คลังก๊าซนำเข้าเขาบ่อยาที่เหมาะสม นอกจากนั้น ธพ. ได้มอบหมายให้ ปตท. นำเข้าก๊าซ LPG ในปี 2559 และปตท. ได้ทำสัญญาระยะยาวในการซื้อก๊าซ LPG แล้ว รวมถึงความต้องการใช้ก๊าซ LPG ที่ลดลง ส่งผลให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2559 นี้ เหลือปริมาณการนำเข้าที่สามารถนำมาประมูลได้ไม่เกิน 2 ลำเรือ (ขนาดลำละ 44,000 ตัน)
ต่อมาในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ให้ที่ประชุมทราบว่า จะไม่มีการนำเข้าก๊าซ LPG ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2559 และจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าจะไม่มีปริมาณนำเข้าที่สามารถนำมาประมูลได้ ภายในปีนี้และอาจจะต่อเนื่องนานถึงปีหน้า ซึ่งส่งผลให้การเปิดประมูลนำเข้าก๊าซ LPG อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการทบทวน Roadmap การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit