นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทาง ซิป้าเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปที่สนใจในธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะปัจจุบันดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ หุ่นยนต์ การเงิน การศึกษา การออกแบบ และการท่องเที่ยว ซึ่งในประเทศไทยยังขาดบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ซิป้า จึงขออาสาเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มธุรกิจ Digital Startup โดยเราจะเชื่อมโยง สร้างพันธมิตรกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมเชิญชวนเป็นวิทยากรที่คอยถ่ายทอดประสบการณ์แก่ Digital Startup รุ่นใหม่ต่อไป
"โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งจะมีการจัดให้ความรู้เป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจดิจิทัล จนสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนา และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งการผลักดัน Digital Startup ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ 5 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพกลุ่มธุรกิจ Digital Startup (Conception) เริ่มจากการตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การติดตามความคืบหน้าและระดมความร่วมมือจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนภาคการศึกษาผ่านทางมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 2 การส่งเสริมแนวความคิด (Ideation) โดยภาคการศึกษาจะจัดฝึกอบรม 2 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรการฝึกอบรมระดับพื้นฐาน (Fundamental Training Course) และหลักสูตรระดับกลาง (Intermediate Training Course) ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนในการจัดอบรมสัมมนา ส่งเสริมความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Training Seminars)
ต่อมาในระยะที่ 3 จะส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบกลุ่มธุรกิจ Digital Startup ในภาคการศึกษาจะให้การสนับสนุนด้านการปฏิบัติการเพื่อต่อยอดความคิด การส่งเสริมการปฏิบัติการด้วยห้องปฏิบัติการ (Lab Use) การส่งเสริมด้วยผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและวิธีการอุตสาหกรรมเชิงลึก การให้ทุนอุดหนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ (Prototype)
ระยะที่ 4 การเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล ทั้งการเข้าถึงผู้รับบริการในตลาด โดยมีการจัดการแข่งขันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และในระยะที่ 5 จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการลงทุน (Valuation) แนวทางการเพิ่มการไหลเวียนของการลงทุน ได้แก่ การเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนก่อนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering: IPO) การเปิดการลงทุนตามมูลค่าการลงทุนที่กำหนดไว้"
กลยุทธ์หนึ่งของโครงการ คือ การเข้าถึงนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งทางเราได้เชื่อมโยงเครือข่าย SIPA Tech Startup Club กับมหาวิทยาลัย 43 สถาบันทั่วประเทศ เพื่อปูพื้นฐานด้าน Startup ให้กับนิสิต นักศึกษา โดยการสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาศักยภาพเตรียมความพร้อม กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถใช้งานได้จริงต่อยอดไปสู่การดำเนินธุรกิจได้ พร้อมกำหนดจัดกิจกรรมใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา นักพัฒนาอิสระ บุคคลทั่วไป และผู้ประกอบการได้มีโอกาสนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์ ไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
ทั้งนี้ ซิป้า ได้เดินหน้าเร่งผลักดัน Digital Startup ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว สานพลังประชารัฐ ทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือผลักดันธุรกิจ Digital Startup ระดมสมองและสรรพกำลังทุกภาคส่วนสร้างเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้ศักยภาพความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรสนับสนุนการทำงานให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) โดยประเทศไทยมีระบบนิเวศที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ให้สามารถสร้างการเติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจได้
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารโครงการ "Digital Startup" ได้ที่ www.sipa.or.th หรือ Facebook: Thailand Digiข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)โทรศัพท์: 0 2141 7197อีเมล: [email protected]