ความผูกพันธ์ของลูกช้างกับแม่ช้างเป็นความผูกพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดบนโลก แม่ช้างใช้เวลาอุ้มท้องกว่า 22 เดือนและนอกจากนี้แม่ช้างนั้นยังต้องใช้เวลานานกว่า 2 ถึง 4 ปีในการเตรียมความพร้อมร่างกายเพื่อที่จะมีลูกสักหนึ่งตัวโดยนับเป็นเวลาที่ยาวนานสำหรับการเพิ่มประชากรช้างซึ่งไม่อาจเทียบได้กับระยะเวลาที่มนุษย์ไปคร่าชีวิตของมัน ทุกปีมีช้างแอฟริกามากกว่า 30,000ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา
เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหานี้ คุณแหม่มได้เริ่มโครงการ #PickMomUp challenge รักแม่เท่าช้าง ที่จะใช้สื่อในโลกโซเชียลมีเดียเชิญชวนให้คนไทยตระหนักและแสดงออกถึงความรักที่มีต่อช้างเพื่อต้านการฆ่าช้างเอางา และฉลองความรักของแม่ที่เรามีร่วมกัน แคมเปญจึงออกมาในลักษณะของภารกิจอุ้มแม่แสดงความรัก เพียงถ่ายภาพหรือวิดีโอสั้นๆลงโซเชียลมีเดีย โชว์พลังในการอุ้มคุณแม่โดยไม่จำกัดเทคนิค อาจให้คุณพ่อมาช่วยอุ้ม หรือจะเป็นคุณแม่อยากอุ้มคุณลูกก็ได้เช่นกัน จะอุ้มแบบยืน อุ้มแบบนั่ง ขี่คอ พาดไหล่ หรือจะอุ้มไม่ขึ้นเพราะรักแม่หนักมากจริงๆ ก็ยังได้ โดยมีแคปชั่นที่เราเริ่มไว้ เพื่อรณรงค์ให้คนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าช้างเอางา พร้อมใส่ #PickMomUp #IvoryFreeTH #หยุดซื้องาช้าง #รักแม่เท่าช้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักความผูกพันธ์ของแม่ที่เรากับช้างมีร่วมกัน
"ความต้องการงาช้างในเอเชียกำลังเพิ่มอัตราการสูญเสียของช้างแอฟริกา" คุณแหม่มกล่าว "สายสัมพันธ์ระหว่างลูกและแม่ช้างถือเป็นสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งที่สุดในบรรดาสัตว์บนโลกนี้ เช่นเดียวกันกับแม่คน แม่ช้างก็เป็นที่รักและไม่มีอะไรจะสามารถแทนที่ได้สำหรับลูกช้าง ช้างเพศเมียหลายตัวอยู่กับแม่ของมันจนลมหายใจสุดท้าย แต่มนุษย์กลับใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีคร่าชีวิตช้างเพียงเพื่องา ดังนั้นดิฉันจึงอยากรณรงค์ให้คนไทยเข้าร่วมโครงการและแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อช้างและความผูกพันธ์ชั่วนิรันดร์ของคนเป็นแม่ โดยการ ไม่ซื้อ ไม่ใช้ และไม่รับผลิตภัณฑ์งาช้าง"
รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความต้องการงาช้าง และทัศนคติต่อการค้างาช้างในไทย ปี 2558 ที่จัดทำโดยองค์กร WildAid ช่วยสัตว์ป่า, African Wildlife Foundation และ Save The Elephants ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนครึ่งหนึ่ง (52%) ทราบว่ามีวิกฤตการฆ่าช้างเอางาในแอฟริกา และ จำนวนใกล้เคียงกัน (51%) ที่ทราบว่า ไทยเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางของงาช้างผิดกฎหมายที่สำคัญของโลก
"เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้กับคนไทยได้รับรู้ว่า ตลาดค้างาช้างไทยมีส่วนกระตุ้นปัญหา การฆ่าช้างเอางาในแอฟริกา เราต้องลดความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างอย่างเร่งด่วน" จอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการองค์กร WildAid กล่าว "เพราะ หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า" .
ปีที่แล้ว ไทยออกพระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทยที่เป็นช้างเอเชีย เท่านั้น รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริากันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครองของไทย มีผลห้ามการซื้อขายหรือครอบครองงาช้างแอฟริกันแต่ไทยก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้นานาชาติเห็นว่า ความพยายามควบคุมตลาดค้างาช้างจะทำให้ตลาดค้างาในประเทศปราศจากงาช้างลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาออกกฎระเบียบใหม่ที่จะยุติการค้างาช้างในประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่จีน และฮ่องกง ประกาศว่าจะค่อยๆ ปิดตลาดการค้างาช้างของตนเอง
"หลังการให้คำมั่นครั้งสำคัญของสหรัฐฯ จีน และฮ่องกงว่าจะปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ เราขอเรียกร้องให้คนไทยร่วมกัน หยุดซื้องาช้าง และขอให้ประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับประเทศเหล่านั้นเพื่อช่วยช้าง สายพันธุ์ที่ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แค่สำหรับคนไทย แต่สำหรับคนทั่วโลก" จอห์น เบเกอร์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit