นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า โครงการทูตเยาวชนเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นจาก องค์กรสมาชิกเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์ (Association of Science - Technology Centres Incorporated - ASTC) และมูลนิธิ BIOGEN Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา คัดเลือก อพวช. ให้เป็น 1 ใน 12 พิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เยาวชนเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพกับสังคม และเกิดเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับนานาชาติ
สำหรับภารกิจของทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้ง 17 คนนั้น จะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลในงาน "ท่องโลกเทคโนโลยีชีวภาพ" ที่ อพวช. จัดขึ้น พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพกับโรงเรียนในละแวกชุมชน และให้ความรู้กับชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา ซึ่งสิ่งที่เยาวชนได้รับนั้นมีค่ามากกว่ารางวัล นั่นคือ การได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะด้านการวิจัยและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อนใหม่ และได้สร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป
ซึ่งผลปรากฎว่า นางสาวญาตา ธนกาญจน์ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 คว้ารางวัล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพยอดเยี่ยม ในหัวข้อ "ไบโอพลาสติก : เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช" ทำหน้าที่เป็นทูตวิทยาศาสตร์ในการให้ข้อมูลกับสังคมในเรื่องการนำวัตถุในธรรมชาติ เช่น แป้งมันสำปะหลัง มาเป็นส่วนผสมในการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในสังคม
ด้าน นางสาวญาตาฯ เผยว่า รู้สึกยินดีมากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ทั้ง 17 คนในการ เดินทางเข้าร่วมงาน Science Center World Summit 2017 ที่ The National Museum of Emerging Science and Innovation (Miraikan) เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอการสื่อสารด้านเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย โดยตนเองจะกลับไปเตรียมความพร้อมและพัฒนาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหัวข้อที่ทำในเรื่อง "ไบโอพลาสติก : เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช" ให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อไปนำเสนอให้กับตัวแทนทูตเยาวชนอีก 12 ประเทศได้รับทราบ พร้อมทั้งยังจะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพระหว่างเพื่อนๆ ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่ได้รับรางวัลนักจัดกิจกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ นายพัทธดนย์ มานะกิจ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อเรื่อง "การรักษาโรคตาบอดสีด้วยการบำบัดยีน" และนางสาวธมลวรรณ ทองดี นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดนครศรีธรรมราช ในหัวข้อเรื่อง "กังหันบำบัดน้ำ 3 in 1"
โดยทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพทั้ง 3 คน จะต้องปฎิบัติภารกิจในการเป็นทูตนักสื่อสารด้านเทคโนโลยีชีวภาพของ อพวช. ต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit