“เครือข่ายอนาคตไทย” รวมพลังทำดีเพื่อสังคม ปลูกจิตสำนึกไทย ไม่เอาขยะ ลด ละ เลิก นิสัยมักง่าย

25 Aug 2016
เพราะสามัคคีคือพลังสร้างสรรค์สังคม ล่าสุด มูลนิธิมั่นพัฒนา ในนามเครือข่ายอนาคตไทย ผู้ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ระดับชาติ ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" เพื่อ ลด ละ เลิก 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ) จึงได้นำทีมภาคีรวมพลังทำดีตอบแทนสังคม ในกิจกรรม "อย่าให้ใครว่าไทยไม่รักษ์สิ่งแวดล้อม กับเครือข่ายอนาคตไทย ตอน ปลูกปะการัง ชมเต่า ไม่เอาขยะ" โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกเครือข่ายผ่านการทำงานร่วมกัน ด้วยการเก็บขยะบริเวณชายหาดนภาธาราภิรมย์ สนามบินอู่ตะเภา และชายหาดอ่าวดงตาล จ.ชลบุรี และมอบถังขยะ "อย่าให้ใครว่าไทย" เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกหยุดพฤติกรรมมักง่าย ไม่เท ไม่โยน ไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ในมิติ "อย่าให้ใครว่าไทยมักง่าย" ให้เป็นที่รับรู้ในสังคม ตลอดจนเชิญชวนประชาชนโดยรอบให้เกิดความตระหนักในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมใจกันรักษาความสะอาด อย่าให้ใครว่าไทยมักง่าย
“เครือข่ายอนาคตไทย” รวมพลังทำดีเพื่อสังคม ปลูกจิตสำนึกไทย ไม่เอาขยะ ลด ละ เลิก นิสัยมักง่าย

ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันมั่นพัฒนา เล่าถึงโครงการรณรงค์ "อย่าให้ใครว่าไทย" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ที่ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และสภาหอการค้าไทย ริเริ่มขึ้น จนเกิดการรวมตัวกันขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นเครือข่ายอนาคตไทย "เราพบว่าในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่อาจมีทัศนคติ นิสัย และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แม้ในบางเรื่องจะดูเล็กน้อยแต่ได้ก่อให้เกิดปัญหาให้แก่ประเทศขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ชัดเจนเลยคือเรื่องของขยะที่ส่วนใหญ่จะเกิดจากความมักง่ายของมนุษย์ ซึ่งเมื่อปัญหาเกิดจากคนก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของคนที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา กิจกรรมในวันนี้จึงเกิดขึ้นด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม โดยเหตุที่เลือก จ.ชลบุรี เพราะว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะต้องรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเราจึงมุ่งหวังที่จะปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ นิสัย และหยุดพฤติกรรมมักง่าย ไม่เท ไม่โยน ไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ แก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ พร้อมถือเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างสมาชิกองค์กรภาคีเครือข่ายอนาคตไทยด้วย ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 108 องค์กร"

ด้าน นาวาโท อภินพ กิตติกุลวานิช นายทหารเวรยุทธการ กองการบินทหารเรือ กล่าวถึงปัญหาขยะที่ได้รับผลกระทบว่า "หาดที่นี่จะสังเกตเห็นได้ว่าลักษณะเป็นอ่าวปิด คือเป็นโค้งไม่มีทางออก เพราะฉะนั้น ช่วงฤดูกาลที่มีมรสุม ลมต่างๆ พัดเข้าหาฝั่ง ทำให้เกิดปัญหาขยะ บางส่วนมาจากช่องแคบมะละกา, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ถูกดันขึ้นมาตามกระแสน้ำกระแสลมก็จะมาขึ้นที่นี่ ประกอบกับขยะจากเรือประมงทั้งชายฝั่งและน้ำลึก อาทิ อุปกรณ์ดักปลา แกลลอนน้ำมัน โฟม หลอดไฟ และอื่น ๆ ที่เมื่อใช้เสร็จแล้ว ทิ้งลงทะเลก็จะพัดมาที่นี่ด้วย ซึ่งปกติเราให้กำลังพลของกองการบินทหารเรือเก็บขยะดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน รวมถึงปลูกแนวสนช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และวันนี้ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้ทางเครือข่ายอนาคตไทยและสมาชิกมาร่วมเก็บขยะที่ชายหาดนภาธาราภิรมย์แห่งนี้ แม้จะเป็นเพียงวันเดียว แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่ทุกคนได้เสียสละเวลามาทำประโยชน์แก่ส่วนรวมร่วมกัน"

ขณะที่ นาวาตรี สนั่น แก้วจันทร์ หัวหน้าแผนกบัญชีพล กองกำลังพล กองบัญชาการ กองการบินทหารเรือ สนามบินอู่ตะเภา เสริมว่า "ถ้าสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดจนมนุษย์เราที่อยู่อาศัยบนโลกใบนี้ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ถ้าเราช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ก็จะเกื้อกูลกันทั้งหมดเพราะเป็นห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องหันมาช่วยกันคนละไม้ละมือ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืน"

พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่าร้อยชีวิตจาก 20 องค์กรภาคี ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกปะการังเทียมในฐานซีเมนต์ โดยนำไปวางเรียงใต้ทะเลบริเวณรอบเกาะไก่เตี้ย หาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธินฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อใช้เป็นที่อยู่ของฝูงปลาและสัตว์ทะเลต่างๆ สร้างสมดุลให้ธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเลที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งตลอดการร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติด้วยแนวคิดแบบ zero waste เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะให้น้อยลง

HTML::image( HTML::image(