นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า ยุโรปและจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นโลก โดยเมื่อวัน 10 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับธนาคารกลางลงอีก0.1% เป็น -0.4% และเพิ่มวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ QE อีก 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน รวมทั้งเพิ่มวงเงินการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ TLTRO กับธนาคารพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และส่งเสริมการปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจ การประกาศนโยบายดังกล่าวถือว่ามากกว่าที่ตลาดคาด และน่าจะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การที่จีนส่งสัญญาณว่า พร้อมดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไปเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดอัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง -50% มีผลทำให้ปริมาณเงินเข้าสู่ระบบจำนวน 7 แสนล้านหยวน ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการ PBoC ยืนยันว่าทางการจีนยังมีเครื่องมือเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากมีความจำเป็น
มาตรการดังกล่าว นับเป็นความพยายามล่าสุดของทางการจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ดัชนีภาคการผลิต(Manufacturing PMI) หดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 8 โดยตั้งแต่ต้นปี จีนได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ลดเงินดาวน์และลดภาษีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพิ่มการลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การอัดฉีดสภาพคล่องผ่านตลาดการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งผลของการใช้มาตรการต่างๆ เริ่มสะท้อนให้เห็นมากขึ้นในช่วงนี้
"เรามองว่า มาตรการต่างๆ ที่ทยอยประกาศตั้งแต่ต้นปี เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน เช่น ยอดเงินกู้และการระดมทุนในเดือน ม.ค. พุ่งสูดสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนผลของนโยบายอัดฉีดสภาพคล่อง รวมถึงราคาและยอดขายบ้านที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ดัชนีภาคการผลิตจะฟื้นตัวขึ้นและกลับมาขยายตัวได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า" นายคมศร กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit