สมศ. แนะสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้ วางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา

19 Feb 2016
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. แนะสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม จำนวน 13,243 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ การไม่จริงจังและไม่ต่อเนื่องในการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนา อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินการประกันคุณภาพ โดยมีฐานข้อมูลในการจัดเก็บให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้สูงขึ้น
สมศ. แนะสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้ วางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากข้อมูลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีสถานศึกษา ระดับขั้นพื้นฐานทั่วประเทศจำนวน 34,265 แห่ง แต่มีสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 13,243 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือการขาดแคลนทางด้านงบประมาณ หรือบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น แต่จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า โรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ขนาดเล็ก แม้ว่าบางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากมีการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนา และดำเนินการประกันคุณภาพ โดยมีฐานข้อมูลในการจัดเก็บให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสูงขึ้นศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ จึงได้แนะนำสถานศึกษาให้นำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนตาม แนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ดังนี้

1) การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 8 ขั้นตอนของการประกันคุณภาพภายใน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน PDCA (Plan - Do - Check - Act) เกิดการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ มีคุณภาพตามมาตรฐาน

2) นำผลการประเมินมาปรับปรุงและวางแผนการดำเนินงาน ตระหนักถึงการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนาสถานศึกษา เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและจะสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.) จัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สถานศึกษาจัดระบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เพิ่มการปฏิบัติจริง และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

4.) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย สถานศึกษารายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาให้ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียได้รับทราบ เปิดรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน การปรับปรุงพัฒนาศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ประโยชน์ของการประกันคุณภาพการศึกษา คือ 1. ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ 2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จของบุตรหลานที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 3. ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ 4. สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ จะได้รับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพ 5. ชุมชน ได้รับผู้เรียนและผู้ปฎิบัติงานที่มีคุณภาพ ชุมชนก็จะมีความสุข เกิดประโยชน์ต่อชุมชน 6. ประเทศชาติ จะเข้มแข็ง ทั้งด้านการทหาร การคลัง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จากประโยชน์ดังกล่าวหากมีการปฏิบัติงานที่มีการประกันคุณภาพ ก็จะส่งผลให้เกิดคุณภาพทั้งระบบ

สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th