รองศาสตราจารย์ ดร. บุษกร บิณฑสันต์ และคณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ "ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม" ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โรงพยาบาลโรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ป่วยโรคไตระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบุกเบิกในการวิจัยแบบสหสาขาวิชากล่าวคือ ผู้ที่ร่วมทำวิจัยประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีนักดนตรีบำบัด นักระบาดวิทยา แพทย์ และพยาบาลวิชาชีพทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานครซึ่งสามารถเป็นงานต้นแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นเดียวกับการใช้งานด้านดนตรีบำบัดในต่างประเทศได้ โดยการดำเนินการวิจัย ได้ออกแบบการวิจัยโดยใช้กระบวนการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายที่ถูกใช้ในการรักษาในขั้นต้น (ดนตรีสดและการฟังดนตรี) โดยผู้ป่วยโรคไตจะได้รับดนตรีบำบัดก่อนและหลังการฟอกเลือด ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 1 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษาจะสามารถนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการบำบัดก่อนและหลังด้วยดนตรีสดหรือการฟังดนตรี ที่มีต่อความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ อาการเจ็บปวดและความวิตกกังวลในระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึงรูปแบบการใช้ดนตรีบำบัดตามความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วย โดยปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงของโรงพยาบาลที่ใช้ดนตรีบำบัดในการรักษาผู้ป่วย อาทิ บุคลากร สถานที่และการอำนวยความสะดวกในการใช้ดนตรีบำบัด ด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัด Suzuki Q-chord และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คถูกนำมาใช้ในการบำบัด นักดนตรีบำบัดจะวางเครื่องดนตรีไว้ข้างเตียง ให้ผู้ป่วยได้สัมผัสและร้องตามเครื่องเล่น Mp3 สำหรับการเล่นดนตรีสด และหูฟังใช้ในการบำบัดด้วยการฟังดนตรี ผู้ป่วยสามารถเลือกดนตรีตามความชอบในการบำบัดทั้งสองวิธี หลังจากการบำบัดจะมีการประเมินระดับความเจ็บปวด ความวิตกกังวล ความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ จากเครื่องตรวจวัดอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยแต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมดนตรีที่แตกต่างกันอันเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตมนุษย์ของสังคมนั้นๆ มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์สร้างงานดนตรีขึ้นตามจินตนาการที่มีเอกลักษณ์ของตนเพื่อบรรยายอารมณ์ความรู้สึก และสะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ออกมาเป็นเสียงดนตรี โดยใช้
ความสั้นยาวของจังหวะ และการร้อยเรียงเสียงสูงต่ำ เพื่อแสดงให้เห็นภาพพจน์ตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ แล้วจึงถ่ายทอดบทเพลงต่อๆ กันไป วัตถุประสงค์ในการใช้ดนตรีของมนุษย์มีหลากหลาย เช่น นำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายให้ผู้คนในสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ดนตรียังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน อาทิ
• ต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิตการตอบสนองของม่านตาความตึงตัวของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนเลือด
• ต่อจิตใจและสมอง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์สติสัมปชัญญะ จินตนาการ การ
รับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวัจนะภาษา เป็นต้น ดนตรีบำบัด (Music Therapy) จึงกลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยบำบัดรักษาความผิดปกติทางร่างกายทางอารมณ์ และทางสังคม ซึ่งมีการศึกษาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นสำหรับประเทศไทย งานด้านดนตรีบำบัดนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายคือ รัฐบาล โดยในสังคมเมืองใหญ่ ดังเช่น กรุงเทพมหานคร ด้วยมลภาวะที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาระทางด้านการงานที่รัดตัว ทำให้เกิดภาวะความเครียดแก่ผู้คนในชุมชนเมือง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในสถานพยาบาลของรัฐมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและความตึงเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ด้วยเหตุนี้งานวิจัยด้านดนตรีบำบัดจึงมีความจำเป็นที่สมควรได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโครงการนำร่องในประเทศไทยในการที่จะนำกิจกรรมดนตรีไปใช้เพื่อการบำบัด และเป็นทางเลือกในการบำบัดจิตใจผู้ป่วยขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
กล่าวได้ว่าดนตรีบำบัด คือ การใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น โดยดนตรีที่นำมาใช้ในการบำบัดนั้นต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ซึ่งประกอบด้วย นักดนตรีบำบัดแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้รับผิดชอบกรณีศึกษาและญาติของผู้เข้ารับการบำบัด ในงานวิจัยนี้ ดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด โดยใช้กิจกรรมที่ได้รับการออกแบบอย่างดี ให้เหมาะกับสภาพผู้เข้ารับการบำบัด เช่น การร้องเพลง การบรรเลง หรือการฟังดนตรี เป็นต้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบำบัดนักดนตรีบัดต้องนำความรู้และประสบการณ์ของตนไปประยุกต์ใช้กับผู้เข้ารับการบำบัดที่มีอาการของโรคและพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานหรือปูมหลังของผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละคน ทั้งนี้ การใช้ดนตรีบำบัดมี 2 รูปแบบประกอบด้วย รูปแบบแรกดนตรีบำบัดแบบเดี่ยว (Individual Music Therapy) เป็นการทำกิจกรรมบำบัดแบบคนเดียว ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอยผู้ป่วย/ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้พร้อมเพรียงกันกล่าวคือ เมื่อผู้ป่วย/ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพร้อมเมื่อใดก็สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งเหมาะแก่การปฏิบัติสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการเข้าสังคมหรือมีความผิดปกติมากและต้องอยู่ในการควบคุมของคณะทำงานด้านดนตรีบำบัด แต่สำหรับผู้ที่ปกติ ก็สามารถใช้ดนตรีในการบำบัดเป็นการส่วนตัวได้ตามความพึงพอใจในโอกาสที่เหมาะสม และ รูปแบบที่ สอง ดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม (Community Music Therapy) เป็นการทำกิจกรรมบำบัดแบบหลายคน เหมาะแก่ผู้ที่ไม่สามารถใช้ดนตรีในการบำบัดตนเองได้ กิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม โดยข้อดี คือ ทำให้ต้องปฏิบัติตามหลักการของกลุ่ม เพื่อความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดการรู้จักกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันช่วยทำให้ความเหงา ความคิดที่เป็นแง่ลบได้ถูกปลดปล่อย เพราะมีผู้ที่รับฟังและเข้าใจมากขึ้น แนวความคิดดนตรีบำบัดแบบกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมากในประเทศแถบยุโรปและเอเชีย เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมดนตรีบำบัดร่วมกัน ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดแก่หมู่คณะอีกด้วยการเลือกชนิดของดนตรีเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดมีวิธีอย่างไรนั้น มักจะเป็นคำถามในใจของหลายๆ คน ซึ่งการเลือกใช้ดนตรีประเภทใดต้องพิจารณาความพึงพอใจของผู้เข้ารับการบำบัด เป็นสำคัญ เพราะหากถูกใจแล้วย่อมส่งผลดี และตอบสนองความต้องการในการใช้กิจกรรมดนตรีบำบัดได้ รวมถึงทำให้เกิดความสุขซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นในวัตถุประสงค์ของการใช้ดนตรีบำบัดการที่ผู้เข้ารับการรักษาไม่มีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อนมิใช่ประเด็นปัญหาของการใช้ดนตรีบำบัด เพราะกิจกรรมดนตรีบำบัดสามารถจัดสรรได้หลากหลายรูปแบบ และสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การคำนึงถึงสถานการณ์และความจำเป็นในการบำบัดเฉพาะโรค ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการบำบัดจะมีส่วนช่วยได้มากในการตัดสินใจเลือกประเภทของดนตรีให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง และสอดคล้องกับกิจกรรมที่ใช้ในการบำบัดในแต่ละกรณีไป
ทั้งนี้ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งการใช้ดนตรีสดบำบัดให้ผลต่อค่า SBP DBP และอัตราชีพจรไม่แตกต่างกัน ทั้งก่อนและหลังการบำบัด (P>0.05) แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนความเจ็บปวดและความวิตกกังวลมีค่าแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) โดยคะแนนความเจ็บปวดและวิตกกังวลก่อนและหลังการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งการฟังดนตรีก่อนและหลังลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ใช้ดนตรีสดบำบัด สรุปได้ว่า การใช้ดนตรีบำบัดช่วยลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยโรคไตที่ทำการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลได้ โดยการบำบัดด้วยดนตรีสดและการฟังดนตรีในผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้ผลไม่ต่างกันในด้านของการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดความเจ็บปวด และความวิตกกังวล ดังนั้น การเลือกใช้ดนตรีบำบัดในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านงบประมาณ บุคลากร สถานที่ และความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงพยาบาล รศ.ดร. บุษกร กล่าว