ตัวเลขนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อมูลที่รวบรวมมาจาก IUCN และบันทึกการสำรวจประชากรเสือโคร่งนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจากเมื่อปี 2010 ที่ข้อมูลระบุเพียง 3,200 ตัว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศอินเดีย รัสเซีย เนปาล และภูฏาน เกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัยทั้งการพัฒนาวิธีการเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐานและการเพิ่มการป้องกันพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ
"หลังจากที่ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี เราก็เริ่มมองเห็นความหวังในการอนุรักษ์สายพันธุ์นี้" ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF-ประเทศไทย กล่าว "ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง จากข้อมูลจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากรัฐบาล นักอนุรักษ์ ชุมชน และประชาชน"
การประชุมระหว่างรัฐบาลของกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่ง ที่การประชุมรัฐมนตรีเอเชีย ครั้งที่ 3 เรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่งในอาทิตย์นี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในเฟสแรกของการอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2010 ในการประชุมสุดยอดเสือโคร่งที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศมีมติเห็นชอบกับเป้าหมายของ TX2 ในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งเป็น 2 เท่า ภายในปี 2022
"นี่คือการประชุมที่สำคัญซึ่งมีการดำเนินงานมาครึ่งทางจากเป้าหมายของ TX2" ดร.ราเจช โกปอล เลขาธิการ สภาเสือโคร่งโลก กล่าว "รัฐบาลของกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่งจะมีการตัดสินใจกระบวนการต่อไปที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและรับรองถึงการคงอยู่ของเสือโคร่งในเอเชียต่อไปในอนาคต"
ในการประชุมทั้ง 3 วัน แต่ละประเทศจะมีการนำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อ TX2 และการดำเนินงานขั้นตอนต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีนเรนดรา โมดิ จะเข้าร่วมการประชุมในหัวข้อบทบาทของเสือโคร่งต่อการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
"แผนงานที่ชัดเจนสำหรับ 6 ปีที่เหลือนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง" นายมิเชล บอล์ทเซอร์ ผู้จัดการ WWF TX2 Tiger Initaitive กล่าว "แม้การลดลงของประชากรทั่วโลกจะหยุดลงแต่ยังคงไม่มีสถานที่ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับเสือโคร่ง พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียเสือโคร่งไปหากรัฐบาลไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน"
เสือโคร่งถูกจัดให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์โดย IUCN Red List of Threatened Species ที่ถูกคุกคามจากการล่าและการสูญเสียที่อยู่อาศัย ข้อมูลจาก TRAFFIC และเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าแสดงให้เห็นว่ามีเสือโคร่งที่ถูกตรวจยึดได้อย่างน้อย 1,590 ตัว ในระหว่างเดือนมกราคม 2000 – เมษายน 2014 ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนในตลาดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายกว่าหลายพันล้านบาท
ในการอนุรักษ์เสือโคร่ง แต่ละประเทศจะต้องทราบถึงจำนวนประชากรเสือโคร่งและภัยที่กำลังคุกคามเสือโคร่ง
ในปี 2014 รัฐบาลของกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่งมีมติเห็นชอบที่จะประกาศจำนวนประชากรเสือโคร่งที่ผ่านการปรับปรุงใหม่ตามฐานข้อมูลการสำรวจนานาชาติในปี 2016 นี้ อย่างไรก็ตามหลายประเทศก็ยังมีการจัดการฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นข้อมูลประชากรเสือโคร่งประมาณ 3,900 ตัวนี้จึงอ้างอิงจาก IUCN Red List of Threatened Species ซึ่งได้มีเก็บข้อมูลและประเมินตัวเลขไว้
WWF และ GTF ชื่นชมประเทศที่มีการปรับปรุงตัวเลขประชากรเสือโคร่งของพวกเขาตั้งแต่ปี 2010 และสนับสนุนให้ประเทศที่เหลือดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ผล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit