นายนิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีความพยายามในการส่งเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกเข้ามาขายในประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยมาตลอด ดังจะเห็นได้จากการใช้มาตรการทางการค้าและอ้างเงื่อนไขของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CAC ของโคเด็กซ์ (Codex) มากดดันไทย ให้เปิดรับหมูสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถใช้ แร็กโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (B-Agonist) ที่เป็นสารก่ออันตรายกับมนุษย์ได้อย่างเสรี ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของไทย ประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหากได้รับสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์
"หากในอนาคต ไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP สิ่งที่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนพยายามป้องกันเรื่องหมูสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงไม่ให้เข้ามาทำร้ายผู้บริโภคชาวไทยมาตลอดก็สูญเปล่า เพราะสหรัฐฯต้องใช้มาตรการและเงื่อนไขทางการค้าอย่างอื่นมากดดันให้ไทยต้องเปิดนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐอย่างแน่นอน และในที่สุดคนไทยก็ต้องบริโภคหมูที่มีสารก่ออันตรายต่อสุขภาพ"
ขณะที่ ผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศ จากการนำเข้าเนื้อหมูอย่างเสรี คือ เกษตรกรจะไม่สามารถแข่งขันราคากับเนื้อหมูสหรัฐที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าได้ โดยหมูสหรัฐจะถูกส่งมาเขย่าฐานอุตสาหกรรมหมูของไทย เนื้อหมูจำนวนมากจะทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ ทำให้กลไกอุปสงค์-อุปทานแกว่งอย่างหนัก
"ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการผลิตและการตลาดได้ เมื่อราคาตลาดต่ำก็จะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ที่สุดแล้วก็จะอยู่ไม่ได้ในธุรกิจนี้ ที่สุดแล้วห่วงโซ่การผลิตจะเสียหายจนไม่สามารถประเมินค่าได้ เมื่อไม่มีคนเลี้ยงหมู ก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ผลิตสินค้าการเกษตรอื่นๆ ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง และผู้ปลูกข้าวที่ขายรำข้าว จึงขอฝากภาครัฐให้พิจารณาเรื่อง TPP อย่างรอบคอบ" นายนิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit