ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน 16 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 578 แท่น ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ต.ค. 58 ทั้งนี้ผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดจำนวนแท่นผลิตลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9
· ที่ประชุมนโยบายทางการเงิน (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) เผยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับ 0% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และยังบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ครั้งต่อไปในวันที่ 16 - 17 ธ.ค. 58
· กระทรวงพาณิชย์จีนเผยรัฐบาลอนุมัติโควต้าการนำเข้าน้ำมันดิบให้แก่โรงกลั่นอิสระเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่บริษัท Baota Petrochemical Group และ Dongying Yatong Petrochemical ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้นและ Reuters รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของจีนไม่รวมสำรองใน SPR ในเดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.3% อยู่ที่ระดับ 224 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดีย เดือน ก.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% มาอยู่ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในเดือน ก.ย. 58 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิรักแซงหน้าซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากราคาประกาศอย่างเป็นทางการ (Official Selling Price หรือ OSP) ของซาอุดีอาระเบียที่สูงกว่าราคาน้ำมันดิบอิรัก
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ไตรมาส 3/58 เติบโตเพิ่มจากปีก่อน 1.5% (ลดลงจากไตรมาสก่อน 2.4 % ) เนื่องจากมูลค่าสินค้าคงคลังสำรองของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ ไตรมาส 1/57 ทั้งนี้การลดสำรองสินค้าคงคลังข้างต้นเทียบเท่ากับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 1.4%
· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายสินค้าทุนพื้นฐานไม่รวมยุทโธปกรณ์และเครื่องบิน (Core Capital Goods) ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 0.3% เนื่องจากภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า และการทุนในภาคพลังงานลดลง
· Conference Board ของสหรัฐฯ รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) ในเดือน ต.ค. 58 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 5.0 จุด มาอยู่ 97.6 จุด หลังผู้บริโภคเริ่มมีมุมมองลบในภาคตลาดแรงงาน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTIในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 31,967 สัญญา มาอยู่ที่ 128,743 สัญญา
· Oil Movement ของอังกฤษซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของเรือบรรทุกน้ำมันดิบเปิดเผยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของ OPEC ยกเว้นประเทศแองโกลา และเอกวาดอร์ในช่วง 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 58 อยู่ที่ 24.13 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้าปริมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนปริมาณ 490,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ผันผวนโดยราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก EIAรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลง และ Baker Hughes Inc. รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบลง ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของOPEC ในเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 120,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 31.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการน้ำมันดิบของเกาหลีใต้แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามภาวะอุปทานล้นตลาดยังไม่กระเตื้องขึ้นโดยอิหร่านประกาศจะแจ้งให้สมาชิก OPEC ทราบอย่างเป็นทางการว่าตนจะเพิ่มปริมาณการผลิตในที่ประชุม OPEC วันที่ 4 ธ.ค. 58 และ รายงานด้านเศรษฐกิจล่าสุดของจีนเพิ่มความกังวลต่อแนวโน้มที่อาจชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางจีนย้ำจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนด้วยการยกระดับการปฏิรูป และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งอาศัยการบริโภคเป็นแรงผลักดัน เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับปานกลาง-สูงในอีก 5 ปี ข้างหน้า ให้ติดตามสถานการณ์ในซีเรียที่สหรัฐฯ ส่งหน่วยรบพิเศษ 50 นาย ช่วยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียสายกลางเพื่อกวาดล้างกลุ่ม IS ด้านการประชุมเพื่อหาข้อยุติสงครามในซีเรีย ตัวแทนจาก 17 ประเทศ รวมทั้ง สหรัฐฯ,รัสเซีย และ อิหร่านต่างเห็นพ้องให้เร่งใช้มาตรการทางการทูต ส่วนอิหร่านเสนอช่วงระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายทางการเมือง 6 เดือน เพื่อจัดการเลือกตั้ง ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และDubai จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 46.75 - 49.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 44.15 - 46.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 43.50 - 46.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในแอฟริกาและตะวันออกกลาง อาทิ Kenya's Oil Industry Pipeline ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณรวม 1.89 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ธ.ค. 58 - ม.ค. 59, Petroleum Importation Coordinator (PIC) ของแทนซาเนียซื้อน้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณรวม 935,000 บาร์เรล ส่งมอบ ธ.ค. 58 และ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวตออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 425,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ธ.ค. 58 ขณะที่ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20,000 บาร์เรล หรือ 0.2% อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.98 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม CPC จากไต้หวัน เริ่มดำเนินการหน่วย RFCC (80,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Talin (300,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงปลายเดือน ต.ค. 58 หลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง และกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินของจีนเดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.1% มาอยู่ที่ระดับ 10.07 ล้านบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ผู้ค้าในตลาดเอเชียเหนือคาดอุปทานน้ำมันเบนซินเดือน ธ.ค. 58 มีเพียงพอขณะที่อินโดนีเซียผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากโรงแยกคอนเดนเสทของ Trans Pacific Petroluem Indotama หรือ TPPI (100,000 บาร์เรลต่อวัน) สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.00 - 66.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs เผยปริมาณการผลิต Middle Distillates ของตะวันออกกลางและจีนเพิ่มขึ้น กอปรกับปริมาณสำรองที่อยู่ในระดับสูงในสหรัฐฯ และยุโรป จะกดดันราคาน้ำมันสำเร็จรูปต่อเนื่องก่อนที่โรงกลั่นจะลดการผลิตลง นอกจากนั้น Genscape รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในยุโรปบริเวณคลัง Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) อยู่ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 45 ล้านบาร์เรล หรือกว่า 76 % ของความจุถัง ส่วนหนึ่งเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำ Rhine ต่ำมาก จึงไม่สามารถลำเลียงน้ำมันไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับต่ำ และความต้องการใช้น้ำมันช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของอินเดีย เดือน ส.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 12.4% มาอยู่ที่ระดับ 2.13 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นของบริษัท MRPL ปิดซ่อมบำรุง และมีข่าว Engen Petroleum ของแอฟริกาใต้ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.001 %Sปริมาณ 270,000 บาร์เรล ส่งมอบ พ.ย. 58 และเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่น Byco ในปากีสถาน (กำลังการกลั่น 35,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 58 ทำให้โรงกลั่นต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ในขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 313,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.89 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.5 - 60.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit