การร่างรัฐธรรมนูญ 2558

23 Apr 2015
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21– 22 เมษายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
การร่างรัฐธรรมนูญ 2558

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงติดตามข่าวของประชาชน เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 7.98 ระบุว่า ติดตามมาโดยตลอด ร้อยละ 26.71 ระบุว่า ค่อนข้างติดตามบ้าง ร้อยละ 30.94 ระบุว่า ไม่ค่อยติดตาม ร้อยละ 34.37 ระบุว่า ไม่ติดตามเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ การร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พบว่า ในจำนวนผู้ที่ติดตามข่าวมาโดยตลอดและผู้ที่ค่อนข้างติดตามบ้างนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.49 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์สูง รองลงมา ร้อยละ 21.38 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนมาจากประชาชน ร้อยละ 18.16 ระบุว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ร้อยละ 10.80 ระบุว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 8.74 ระบุว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ร้อยละ 6.44 ระบุว่า มีพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อยู่ก่อนแล้ว ร้อยละ 5.29 ระบุว่า มีคนชี้นำและครอบงำความคิดในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 1.84 ระบุว่า ไม่มีพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มาก่อน ร้อยละ 1.84 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ไม่แน่ใจว่าเป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ รูปแบบยังไม่เป็นรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยและยังมีข้อสงสัยในบางมาตรา และผลก็ออกมาเหมือนเดิม และร้อยละ 5.52 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.91 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยที่ยุติธรรมและมีความโปร่งใส เป็นกลั่นกรองความคิดเห็นที่มาจากหลากหลายทุกภาคส่วน เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และประชาชนจะได้ทราบถึงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญด้วย ขณะที่ ร้อยละ 11.32 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลา อีกทั้งประชาชนบางคนไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจถึงตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และส่วนหนึ่งมั่นใจในการบริหารงานของรัฐบาลและการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ และร้อยละ 23.77 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการยอมรับได้ประชาชน หากร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือจากการลงประชามติ และ ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกระยะหนึ่ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.19 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ จะได้มีเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ผลสรุปออกมาอย่างเต็มที่และเป็นฉบับที่ดีที่สุด เพื่อให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน รองลงมา ร้อยละ 30.62 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะ ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งเร็ว ๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักของประชาธิปไตย และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ และร้อยละ 16.19 ไม่ระบุ/เฉย ๆ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.49 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.46 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.18 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.78 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.10 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.19 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.73 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก

ตัวอย่างร้อยละ 3.84 มีอายุ 18 – 24 ปี ร้อยละ 27.42 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 46.12 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 22.62 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.48 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.88 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.64 คริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 22.98 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.94 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.08 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 30.22 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 27.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.47 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 30.70 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 5.12 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 13.47 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 14.35 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 24.70 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.51 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 12.35 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 17.72 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 2.89 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 16.99 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 24.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 26.79 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 12.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.86 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.97 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 3.67 ไม่ระบุรายได้