“ไทย – ญี่ปุ่น” ร่วมวิจัยวัณโรคดื้อยาทั้งในเชื้อและคนพร้อมกัน ครั้งแรกในอาเซียน

31 Aug 2014
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) มหาวิทยาลัยโตเกียว และหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาวิจัยการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อประเมินผลการดื้อต่อยาต้าน ทั้งในเชื้อแบททีเรีย(วัณโรค)และตัวผู้ป่วย ควบคู่ไปพร้อมกันครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้าตรวจได้เร็ว ให้ยาถูกขนาด-ชนิด และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยวัณโรคทั้งในไทยและญี่ปุ่น

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังการร่วมลงนามข้อตกลงโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหาวัณโรคกับรัฐบาลญี่ปุ่นว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยประมาณ 80,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 5,000 – 6,000 ราย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคมีราคาถูกลง รวมทั้งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้แต่ละประเทศใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคให้ได้มาตรฐานการรักษาวัณโรคในระดับนานาชาติ ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มอบหมายให้สถาบันชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาศักยภาพความสามารถทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อและการแสดงอาการของวัณโรค การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพันธุศาสตร์ของระดับยาต้านวัณโรคในประชากรไทย และการศึกษาเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อเลือกขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับประชากรไทย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคทั้งในเชื้อและในตัวผู้ป่วยไปพร้อมกัน ดังนั้นโครงการในระยะ 4 ปีที่จะทำการศึกษาวิจัยต่อจากนี้ จะมีการวิจัยด้านพันธุกรรมทั้งในผู้ป่วยและเชื้อแบททีเรีย(วัณโรค)ควบคู่ไปพร้อมกัน และยังเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมมือกับ School of Internationnal Health (SIH), Graduate School of Medicine, Faculty of Medicine, มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น เรื่อง “Integrative Application of Human and Pathogen Genomic Information for Tuberculosis Control” โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ทางด้าน Science and Technology Cooperative of Global Issues ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้เป็นโครงการที่ได้รับการรับรองการดำเนินงานโดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้รับการสนับสนุนเครื่องมือในการวิจัยจากรัฐบาลญี่ปุ่นมูลค่า 50 ล้านบาท และงบประมาณสนับสนุนจากกรมฯเองอีกประมาณกว่า 20 ล้านบาท รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยโตเกียว สถาบันวิจัยวัณโรคแห่งประเทศญี่ปุ่น สถาบันริเคน (RIKEN) และโรงพยาบาลโรคปอด Fukujuji hospital โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการผ่านทาง Japan Sciences and Technology agency และ Japan International Cooperation Agency (JICA)

“นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค คณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ในการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ การตรวจระดับยาต้านวัณโรคเพื่อประกอบการรักษา การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ทางด้านพันธุกรรมของ วัณโรคทั้งของผู้ติดเชื้อและเชื้อวัณโรค ซึ่งผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยลดปัญหาวัณโรคของประเทศไทยและญี่ปุ่นได้” นายแพทย์อภิชัยกล่าว