ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (universal bank franchises) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านธุรกิจการบริหารจัดการกองทุน, ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์, วาณิชธนกิจ และธุรกิจประกันชีวิต นอกจากนั้นธนาคารทั้ง4 แห่งยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีขนาดของสินทรัพย์รวมกันประมาณ 59% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดพร้อมกับการบริหารค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ในส่วนของการขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้นนับว่ายังมีโอกาสแต่ฟิทช์มองว่าน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลยุทธ์ของธนาคารเหล่านี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อปริมาณธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทไทยเป็นหลัก
การแข่งขันจากธนาคารอื่นในภูมิภาคที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในภาคการธนาคารของไทยเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากมีการซื้อกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5) ในช่วงปลายปี 2556 โดยธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ)
แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยต่างมีฐานะทางการเงินที่ดีและน่าจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงขาลงได้ แต่ความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินและโอกาสในการถูกปรับลดอันดับเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากรายงานพิเศษเรื่อง “Thailand’s Large Banks: Peer Review - Domestic Expansion Becoming Limited” ที่ www.fitchratings.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit