ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า การขนส่งทางรางเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคและเมือง รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวของเส้นทางรถไฟอีกด้วย ระบบขนส่งทางรางเสริมโอกาสของประเทศไทยจากยุทธศาสตร์ที่ตั้งใจกลางอาเซียน เป็นแหล่งผลิตเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวและการพาณิชย์ ระบบขนส่งทางรางถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความรู้และกำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทางรางให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนากำลังคนและการบ่มเพาะความรู้ภายในประเทศอย่างเหมาะสม ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระพลกำธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สวทน. กล่าวว่า “นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในการจัดระดมสมองและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขนส่งทางรางครั้งใหญ่ในรอบปี ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมประชุมจะเป็นนักวิชาการ วิศวกร นักวิจัย นักพัฒนาเมือง และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในประเทศไทยและสร้างบุคลากรของไทยเพื่อรองรับการ ขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศ ดังนั้นการผนึกกำลังของ 19 องค์กร ระหว่าง 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มงานวิจัยและสถาบันการศึกษา, กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบราง และหน่วยงานภาครัฐด้านนโยบาย การพัฒนาประเทศไม่ใช่เพียงการจัดซื้อรถไฟหรือการก่อสร้างเท่านั้น แต่เราต้องมองถึงการผลิตกำลังคน เนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้เพราะ “คน” เราต้องสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทุกระดับเพื่อรองรับโครงการระบบขนส่งทางรางและคมนาคมในครั้งนี้ ความต้องการกำลังคนในปี 2563 ประมาณ 31,307 คนและในจำนวนนี้ต้องการบุคลากรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 17,220 คน
การพัฒนากำลังคนให้เกิดองค์ความรู้ด้านระบบขนส่งทางรางในประเทศ จะช่วยให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ตั้งแต่ในด้านของกระบวนการคิดวางแผน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดไปจนถึงการออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารและการบำรุงรักษาระบบการเดินรถ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไปตลอด และอาจนำไปสู่การทำวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต เช่น การผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ เบาะ ตัวถัง วงจรไอที เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการเป็นฐานการผลิตส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรายใหญ่ของโลกแบบครบวงจรอยู่แล้วจึงไม่น่าจะเป็นการยากที่จะต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้ สวทน.มีแผนงานในอนาคตที่จะจัดตั้ง สถาบันวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย (Thailand Rail Academy) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน เชื่อมโยง ส่งเสริมและสนับสนุน อำนวยความสะดวก เพื่อพัฒนาบุคลากร สร้างความเชี่ยวชาญ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการและสั่งสมความรู้ความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางให้ก้าวไกล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ 2 วัน ของงานประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557 (Thailand Rail Academy Symposium 2014) อัดแน่นด้วยสาระองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยวันแรก วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2557 เริ่มด้วย การบรรยาย เรื่อง Railway Transportation and Land Use Planning: A Case of California HSR โดย Professor Robert Cervero, , Department of City and Regional Planning, University of California, Berkeley ยกกรณีศึกษาจากนานาประเทศและไฮไลท์ของโครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในแคลิฟอร์เนียที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง , บรรยาย เรื่อง แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยในระยะ 10 ปี โดย คุณชาญชัย สุวิสุทธะกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม ต่อด้วย เสวนาเรื่อง บทบาทของระบบรางต่อการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง โดย Professor Robert Cervero, คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการกองวิชาการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปิดท้ายวันแรกด้วย เสวนาเรื่อง ประสบการณ์ด้านการจัดการระบบรางในประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว (อดีต) รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร. เทอดเกียรติ ลิมปิทีปราการ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ส่วนใน วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม 2557 เปิดเวทีอย่างน่าสนใจด้วยกรณีศึกษาประเทศเกาหลี ในหัวข้อ Railway Development: A Case of Korea โดย ดร.จินยู ชอย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบขนส่งทางรางแห่งเกาหลี (Korea Railroad Research Institute - KRRI) เกาหลีใช้เวลาพียง 17 ปีประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งทางรางด้วยทรัพยากรมนุษย์ จาก “ผู้ใช้” จนกลายเป็นหนึ่งใน “ ผู้นำการผลิตและส่งออกระบบราง” ต่อด้วย เสวนาเรื่อง นวัตกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางราง โดย ดร.พิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, คุณศรายุธ ทองยศ ผู้จัดการโครงการสายงานธุรกิจก่อสร้างทางรถไฟ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ , คุณสาธิต มาลัยธรรม รองผู้จัดการโครงการกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด, คุณธวัชชัย สินธพเลิศชัยกุล ตำแน่งผู้จัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร. รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกจากนี้ ยังมี เสวนาเรื่อง ระบบปฏิบัติการ: ศูนย์ซ่อมบำรุง สถานี และการเดินรถ โดย ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บจก.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. คุณกิติพัฒน์ สุภัคลีลากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุง บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ และคุณวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ รองวิศวกรใหญ่ด้านลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกล ดำเนินรายการโดย : คุณมานะชัย วัฒนหัตถกรรม Technical Director – Thailand DB International GmbH ต่อด้วย เสวนาเรื่อง วิศวกรรมล้อเลื่อน (Rolling Stock) โดย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง เช่น บมจ. ช.ทวี ดอลลาเซียน, Senior project manager for Rolling stock บริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่นซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินรายการ โดย ดร. ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงษ์ ประธานสาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังปิดท้าย เป็นบรรยายเรื่อง การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านระบบขนส่งทางราง โดย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคุณนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อดีตรองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit