ไทย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย ร่วมศึกษาภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ หลังพบไทยมีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 6

17 Jun 2014
กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ร่วมศึกษาภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ ค้นหาสาเหตุ วิธีการรักษา เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยให้เกิดประโยชน์แก่ทุกประเทศ เพราะปัจจุบันภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุสำคัญการเสียชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเสียชีวิต

ที่โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค กรุงเทพฯ นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Infectious Disease Clinical Research Network - SEAICRN) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคติดเชื้อ และกำลังร่วมมือศึกษาภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ยังไม่รู้อย่างครบถ้วนชัดเจน ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทยพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คาด

เครือข่ายความร่วมมือการวิจัยทางการแพทย์ฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 เบื้องต้น เพื่อทำการศึกษาโรคไข้หวัดนกจากเชื้อ H5N1 เครือข่ายนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันทางการแพทย์ และหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อทำการวิจัยและหาคำตอบที่จำเป็นสำหรับการวางแผนรับมือกับโรคติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้เครือข่าย SEAICRN ได้ทำการวิจัย เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษาโรคติดเชื้ออื่นๆที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นในภูมิภาค รวมถึงภาวะโลหิตเป็นพิษ โรคฉี่หนู โรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อไวรัส EV71 เป็นต้น ซึ่งในครั้งนี้ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ โดยได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2556 ส่วนในประเทศเวียดนามเริ่มเมื่อต้นปี 2557 และจะเริ่มในประเทศอินโดนีเซียช่วงปลายปี 2557 การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้สาเหตุที่สำคัญ วิธีการรักษาและผลการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ เพื่อที่จะพัฒนาการวินิจฉัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางสาธารณสุขในทุกประเทศ

ด้าน นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกับนักวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากมีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เกิดขึ้น ที่สำคัญเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการรับมือกับโรคไข้หวัดนกจากเชื้อ H5N1 ว่าถ้ารอให้โรคระบาดเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นการยากที่จะทำการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทันเวลา เพื่อหาคำตอบที่ดีให้แก่แพทย์และบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วย สำหรับหน่วยงานในประเทศไทยที่ร่วมมือในเครือข่าย SEAICRN ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และหน่วยวิจัยมหิดล-อ๊อกฟอร์ด ของมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

“สำหรับภาวะโลหิตเป็นพิษคือภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือสารพิษของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งการอักเสบดังกล่าวจะทำให้อวัยวะต่างๆ เสียหาย ระบบแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง อาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อลดลง ในรายที่เป็นรุนแรงความดันโลหิตจะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายมาก หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.ศุภมิตร กล่าวปิดท้าย