ร็อควิลล์, แมริแลนด์--16 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- USAID และ USP ให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพระดับชาติเพื่อยกระดับระบบการประกันและควบคุมคุณภาพทั่วโลก
ห้องปฏิบัติการของสํานักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน WHO Prequalification จากองค์การอนามัยโลก และได้อยู่ในบัญชีรายชื่อห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกฉบับที่ 25 ห้องปฏิบัติการดังกล่าวเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจวิเคราะห์เพื่อยืนยันผลคุณภาพยาต้านมาลาเรียและยาต้านวัณโรคภายใต้โครงการ Promoting the Quality of Medicines (PQM) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ดำเนินการโดย U.S. Pharmacopeial Convention (USP) การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามในการยกระดับคุณภาพสาธารณสุขโลก โดยช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้มากขึ้น ทั้งยารักษาโรคมาลาเรีย วัณโรค เอชไอวี/เอดส์ รวมถึงยาเพื่อสุขภาพของแม่เด็ก
“เราขอแสดงความยินดีกับห้องปฏิบัติการของสํานักยาและวัตถุเสพติดกับความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีคุณภาพและราคาประหยัดมากขึ้น” ดร.แพทริค ลูกูเลย์ (Dr. Patrick Lukulay) รองประธานโครงการ Global Health Impact ของ USP และผู้อำนวยการโครงการ PQM กล่าว “สํานักยาและวัตถุเสพติดได้แสดงให้เห็นว่า สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสากลที่เข้มงวดได้ และ PQM มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการของสํานักยาและวัตถุเสพติดในความพยายามครั้งสำคัญนี้”
ภายใต้การรับรองมาตรฐาน WHO Prequalification นั้น องค์การอนามัยโลกจะประเมินอย่างละเอียดในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ยาต่างๆ หน่วยงานต่างๆขององค์การสหประชาชาติรวมถึงองค์กรอื่นๆจะใช้บัญชีรายชื่อยาที่ผ่านการรับรองเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการตัดสินใจจัดซื้อยาหลักเป็นจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังให้การรับรองห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพยาที่ได้มาตรฐานระดับสากลในการตรวจวิเคราะห์ยา เป็นการสร้างความมั่นใจว่าการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยาเป็นไปอย่างแม่นยำและน่าเชื่อถือ
ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพยาที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WHO Prequalified มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ห้องปฏิบัติการของสํานักยาและวัตถุเสพติดประเทศไทย และสถาบันควบคุมคุณภาพยาแห่งชาติที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม (NIDQC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก PQM นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการของสํานักยาและวัตถุเสพติดยังได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2550 และได้ขอขยายขอบข่ายการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555
“การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน WHO Prequalified ไม่ใช่แค่ความสำเร็จครั้งสำคัญของห้องปฏิบัติการของเราเท่านั้น แต่ยังทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุขโลกด้วยการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้” นางสาวนิดาพรรณ เรืองฤทธินนท์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กล่าว “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่นี้”
หลังได้รับการรับรองมาตรฐาน WHO Prequalified ห้องปฏิบัติการของสำนักยาและวัตถุเสพติดจะเป็นแหล่งความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการฝึกอบรม และการทดสอบ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ห้องปฏิบัติการของสำนักยาและวัตถุเสพติดได้ทำงานร่วมกับโครงการ PQM ในหลายด้านเพื่อขจัดปัญหาคุณภาพยาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่นการเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการตรวจสอบคุณภาพยา เพื่อตรวจสอบคุณภาพยาในตลาดรวมถึงการให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการตรวจวิเคราะห์ยาตามตำรายาแก่นักวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพยาจากประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า นอกจากนั้นสำนักยาและวัตถุเสพติดยังให้ความร่วมมือในด้านอื่นๆ คือ เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการ การพัฒนางานสารมาตรฐานอ้างอิง โครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]
USP – ยกระดับสุขภาพมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2363
U.S. Pharmacopeial Convention (USP) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงผลกำไร และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านเอกลักษณ์ ความทนทาน คุณภาพ และความบริสุทธิ์ของยารักษาโรค ส่วนประกอบอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จุดมุ่งหมายขององค์กรคือการยกระดับสาธารณสุขโลกด้วยการใช้มาตรฐานต่างๆที่เป็นสาธารณะ ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และประโยชน์ของยารักษาโรคและอาหาร กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ USP ที่ http://www.usp.org
ติดต่อ:
เทเรซ่า ลารานัง-มัตลู (Theresa Laranang-Mutlu)
โทร: +1-301-816-8167
อีเมล: [email protected]