คปก.ชงสภาฯเร่งคลอดกม.รับผิดทางแพ่งจากมลพิษน้ำมัน เสนอตั้งกองทุนฯชดใช้ค่าเสียหาย

13 Aug 2013

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. .... เสนอต่อ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา

คปก.ได้ศึกษาประเด็นปัญหาระบบกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีของความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันโดยเฉพาะ สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ก็ไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือไว้ ทั้งยังมีขอบเขตการใช้บังคับที่ยังไม่ครอบคลุม จึงจำต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด โดยเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันจะต้องรับผิดเต็มตามจำนวนความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจการเดินเรือบรรทุกน้ำมันต้องล้มละลายและส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นข้อพิจารณาอีกว่าหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลแล้ว ความเสียหายนั้นอาจจะกระจายเป็นวงกว้างมากไม่เฉพาะเพียงรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น แต่มักจะส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นเมื่อมีการเรียกร้องความเสียหาย และหากระบบกฎหมายของประเทศในภูมิภาคมีความแตกต่างกันก็อาจเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะได้รับจากการยื่นฟ้องต่อศาลในแต่ละประเทศอันนำมาสู่ปัญหาการเลือกฟ้องคดีต่อศาล (Forum Shopping) ได้ในที่สุด ดังนั้นในการเลือกกำหนดแนวทางการร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์สากลและกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย

คปก.จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า จำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายเฉพาะในเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นใช้บังคับโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. .... ฉบับที่ได้มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว คปก. มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในส่วนของหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่มีการเขียนในลักษณะว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992 แล้ว แต่โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นการเขียนไว้ล่วงหน้า และต่อมาเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนาคตก็จะมีผลทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับโดยสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องทำการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการอีก

คปก.มีข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อมีการบัญญัติกฎหมายไว้ในลักษณะที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992 แล้ว หากรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับเมื่อใด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992 โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นในส่วนของหลักการและเหตุผลของพระราชบัญญัติก็จะเกิดความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้ เนื่องจากอนุสัญญา CLC ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดโดยพิธีสารแก้ไข ปี ค.ศ.2000 และมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เพื่อความสอดคล้องกับหลักสากลจึงเห็นสมควรให้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สอดคล้องกับพิธีสารแก้ไขฉบับล่าสุดด้วย

กรณีการฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย คปก.ได้พิจารณาในส่วนของการใช้คำว่า “เอกชน” ไม่มีการให้คำนิยามไว้โดยชัดเจนว่าเอกชนหมายถึงบุคคลใดบ้าง มีเพียงแต่คำนิยามของคำว่า “บุคคล” เท่านั้นแล้ว เห็นสมควรให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเฉพาะคำว่า “เอกชน” ในมาตรา 31 วรรคแรกของร่างพระราชบัญญัติเป็น “บุคคล” แทน

ทั้งนี้คปก.เห็นว่านอกจากให้มีการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนความรับผิดในเรื่องดังกล่าวตามหลักเกณฑ์สากลที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อความรับผิดอันเกิดจากมลพิษน้ำมัน หรือ Fund Convention ทั้งนี้ เพื่อให้มีกองทุนในการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เกินจากความรับผิดของเจ้าของเรือหรือตาม CLC 1992 ด้วย ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนน้ำมันดังกล่าวนั้นผู้นำเข้าน้ำมันจะต้องทำการสมทบเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันตามปริมาณที่ตนนำเข้าด้วย อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นบ้าง แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับกรณีที่เกิดความเสียหายจากการรั่วไหลของน้ำมันแล้วก็นับว่าคุ้มค่า และเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา Fund Convention และมีกฎหมายอนุวัติการแล้วก็จะทำให้ระบบความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหาย ที่เกิดจากมลพิษน้ำมันนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล ที่ให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายเจ้าของเรือและผู้เสียหาย

รายละเอียดเพิ่มเติม : บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. ....

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net