ลงดาบโฆษณาอาหารและยาเกินจริง ขู่ปรับ ๕ แสนบาท - ยึดใบอนุญาต

09 Aug 2013

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--สช.

สช.ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ควบคุม โฆษณายา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเสนอเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ อย.เร่งแก้กฎหมายเพิ่มโทษปรับและจำคุก ขณะที่ กสทช.นำร่องเอาผิดทีวีดาวเทียมแล้ว ด้านตำรวจขู่จับกุมผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายอย่างจริงจัง พบคดีพุ่งปีละ ๕๐๐ ราย

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น "สานพลัง คุ้มครองผู้บริโภคโฆษณายา อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย" โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมด้วย ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพ

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.ได้ขับเคลื่อนแนวทางการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภค ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางโฆษณาผ่านสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคให้รู้เท่าทันการโฆษณา และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก่อนนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติต่อไป

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า อย.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย ๓ ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ , พ.ร.บ.ยา พ.ศ.๒๕๑๐ และ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๓๕ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยเฉพาะการเพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและไม่ได้รับอนุญาตจากอย.จาก ๕,๐๐๐ บาท เป็น ๕ แสนบาท ไปจนถึงโทษจำคุก และปรับรายวันเพื่อสะท้อนให้ผู้ประกอบการเห็นความจริงจัง ในการบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนั้น ยังกำหนดแนวทางจัดการปัญหาโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำซาก เชื่อมโยงกับการพักใบอนุญาตผลิต การเพิกถอนทะเบียนตำรับและเลขสาระบบ ส่วนสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุคลื่นใด ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หากอย.ตรวจพบ ก็จะประสานกับ กสทช.ให้ดำเนินการกับเจ้าของสื่อ และอย.จะดำเนินการกับเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย ที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทั้ง ฟรีทีวี และหนังสือพิมพ์ ในการกำกับดูแลกันเองตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ส่วนกรณีการขายผลิตภัณฑ์ทางอินเตอร์เน็ตยังเป็นปัญหา ผู้กระทำผิดอาจนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศโดยไม่ขออนุญาตจากทางอย. ไม่มีที่อยู่เจ้าของเวปไซต์ หรือบางครั้งเปิดเวปไซต์จากต่างประเทศ ทำให้การฟ้องร้องยาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงไอซีที

ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ขออนุญาต ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง ข้อมูลโฆษณาที่ขออนุญาต มาตรการเฝ้าระวัง การร้องเรียน และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตัวอย่างโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้กับสังคม สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์โฆษณาที่ดีต่อไป นอกจากนั้น อย.ยังทำ Application ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลและร้องเรียนได้ในชื่อ “SMART อย.” พร้อมเปิดสายด่วน ๑๕๕๖

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า คณะกรรมการกสทช.เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา โฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ อย.ที่ประสานงานมาเพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกับกสทช.ไว้ ซึ่งที่ผ่านมากสทช.ได้เปิดสายด่วนให้ประชาชนที่ติดตามสื่อร้องเรียนได้ที่หมายเลข ๑๒๐๐

ล่าสุดคณะกรรมการกสทช.มีคำสั่งให้ระงับการโฆษณา พร้อมส่งหนังสือไปถึง บริษัท โนวัน จำกัด เจ้าของรายการ "พอใจชาแนล" ออกอากาศทางกล่องรับสัญญาณ GMMz เนื่องจากพบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์ เจนนิ ฟูดส์ ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งกรณีนี้ทาง อย.เคยดำเนินการตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ ไปแล้ว ถือเป็นความผิดซ้ำซาก หากไม่ดำเนินการแก้ไข กสทช.ก็มีอำนาจในการปรับและเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป นอกจากนั้น ที่ผ่านมา กสทช. เคยทำหนังสือเตือนรายการที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องการโฆษณาหลายช่อง และขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) ไว้อยู่แล้ว หากพบกระทำผิดซ้ำก็จะดำเนินการเป็นขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบันกสทช.เฝ้าระวังการโฆษณาและออกอากาศในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะระบบทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาตกับกสทช.แล้ว ๙๘% ยกเว้นวิทยุชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ สถานี ยังสามารถขึ้นทะเบียนได้เพียง ๒๐% เท่านั้น ทำให้การตรวจสอบติดตามให้ทั่วถึงเป็นเรื่องยาก เมื่อมีการสั่งปิดวิทยุชุมชนก็ลักลอบเปิดใหม่ได้ง่าย จึงต้องผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลการโฆษณาที่ผิดปกติด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการหลงเชื่อสื่อโฆษณา โดยนำผลิตภัณฑ์ไปลองใช้และเลิกยาชนิดอื่นที่เคยใช้อยู่เดิม ถือเป็นตัวอย่างของผู้ถูกกระทำจากโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภค ขณะนี้กพย.รณรงค์ให้มีการรวมกลุ่มกันในระดับพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผิดกฎหมาย หรือไม่ขออนุญาต จัดทำคู่มือ "ทุกข์ล้นเหลือ เหยื่อโฆษณา" ซึ่งจะกระตุ้นให้สื่อมวลชนร่วมมือกันกำกับดูแลจริยธรรมในเรื่องนี้ และขณะนี้มีคณะนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ๑๒ แห่งที่จะบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรด้วย

กพย.ยังได้จัดทำโครงการนำร่องจังหวัดต้นแบบให้ประชาชนรู้เท่าทันโฆษณาใน ๔ จังหวัด ได้แก่ พะเยา สงขลา ขอนแก่น สระบุรี และในปี ๒๕๕๖ ขยายอีก ๑๐ จังหวัด เป็น ๑๔ จังหวัดทั่วประเทศ โดยแนวทางการจัดการจะแตกต่างกัน ตามลักษณะของปัญหาและมีการใช้กลยุทธ์หลากหลาย อาทิ จังหวัดสระบุรี ขับเคลื่อนโดยประสานความร่วมมือกับกสทช. จังหวัดขอนแก่น รวมกลุ่มเหยื่อจากการโฆษณา เดินสายถ่ายทอดประสบการณ์กับผู้บริโภค จังหวัดพะเยา ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเน้นแก้ปัญหาโฆษณายาเป็นหลัก และจังหวัดสงขลา เน้นแก้ปัญหาการขายตรง และรวมกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภค โดยกพย.จะถอดบทเรียนและนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผู้บังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการที่กระทำความผิด มีช่องทางหลอกลวงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ในขณะนี้มีผู้กระทำผิดปีละ ๔๐๐-๕๐๐ ราย แต่การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้มงวดขึ้นเช่นเดียวกัน ภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน และพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ บก.ปคบ. กำหนดมาตรการสำคัญในการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณา ๒ ด้าน คือ ๑. มาตรการป้องกัน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับ เวปไซต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนและผู้บริโภคตระหนักถึงพิษภัยของการโฆษณาอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นการปิดช่องทางของผู้จงใจกระทำความผิดให้น้อยลง และยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสื่อที่มีคุณภาพให้เป็นหูเป็นตาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ๒. มาตรการปราบปราม ถือเป็นมาตรการในเชิงรุก โดยมีศูนย์ปฏิบัติการบก.ปคบ. เฝ้าระวังรายการหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ ทั้งทางเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเตอร์เน็ต และวิทยุ รวมทั้งการออกหาข่าวในพื้นที่ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และจับกุมผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ พร้อมเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ที่สายด่วน ๑๑๓๕ และตู้ ปณ. ๔๕๙ รวมถึงประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ซึ่งทำให้กลไกการดูแลผู้บริโภคเข้มแข็งขึ้น-กภ-