กศน.ระนอง สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส” ปลูกฝัง “หลักธรรม” และความ “พอเพียง” เพิ่มคุณภาพชีวิต

14 Nov 2013
ปัจจุบันมีเด็กไทยเป็นจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับด้วยสาเหตุ “การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์” เมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “นักเรียน” ไปเป็น “แม่” ในวัยที่ยังไม่พร้อม ทำให้ขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูก รวมไปถึงทักษะที่จะเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากเพิกเฉยปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงเยาวชนไทยที่ต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็น “พ่อ” และ“แม่” แทนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้วยการก้าวเข้าสู่ภาคแรงงานอย่างมีคุณภาพ
กศน.ระนอง สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส” ปลูกฝัง “หลักธรรม” และความ “พอเพียง” เพิ่มคุณภาพชีวิต

โครงการ “การพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคุณแม่วัยใสให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ของ “นาวสาวสุภาณี มะหมีน” หรือ “ครูไหม” ครู กศน.ตำบลเขานิเวศน์ จ.ระนอง ผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเพื่อให้กลุ่มคุณแม่วัยใสที่มีอายุตั้งแต่ 14-20 ปี ให้สามารถดูแลตนเองและลูกน้อยให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

“ปัญหาคุณแม่วัยใสในยุคปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่เฉพาะแค่ที่จังหวัดระนอง เพราะเด็กในวัยเรียนมีปัญหาเรื่องชู้สาวและท้องก่อนเรียนจบเป็นจำนวนมาก ปัญหานี้นอกจากจะต้องหาทางแก้ไขแล้วยังต้องหาทางป้องกันไปพร้อมๆ กันด้วย โดยโครงการนี้จะเป็นการป้องกันและก็แก้ปัญหาให้กับเยาวชนที่พลาดไปแล้ว โดยให้โอกาสในการกลับมาเรียนหนังสือกับทาง กศน. โดยเราก็จะให้ความรู้ทั้งด้านความรู้ของสายสามัญ การส่งเสริมอาชีพ และหลักการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน การดูแลลูก การทำจิตใจให้ยอมรับกับสภาพปัญหาแล้วก็เริ่มต้นชีวิตใหม่” ครูสุภาณีเล่าถึงที่มาของโครงการ

โดย “ครูสุภาณี” ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาให้กับเยาวชนในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับ “คุณแม่วัยใส” จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบไปด้วย 1.การให้ความรู้ในเรื่องการดูแลลูก, 2.พี่สอนน้องเรื่องท้องก่อนวัยอันควร, 3.ธรรมะช่วยสอน, 4.การอยู่อย่างพอเพียง และ 5.การฝึกอาชีพระยะสั้น และหลังจากที่ได้ดำเนินงานไประยะหนึ่งก็ได้รับความร่วมมือขยายผลไปยังเครือข่ายอื่นๆ จนอยู่ในระหว่างการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมอีกหลายหลักสูตร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ทักษะชีวิตด้านยาเสพติด”

“หลักสูตรต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ เช่น ถ้าเขามีลูกเขาก็เลี้ยงลูกเอง เลี้ยงลูกแล้วก็ยังมีอาชีพมีงานทำ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าถึงแม้จะอายุน้อยแต่ว่าเขาก็มีความรับผิดชอบที่จะดูแลตัวเองและลูก เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเป็นสัจธรรมของโลก ทุกคนต้องมีความรักและความใคร่ แต่ในเมื่อผิดพลาดมาแล้วทุกคนก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แล้วก็อยากให้เด็กกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเพื่อนคนอื่นๆ ให้มีสติยั้งคิด รวมไปถึงในอนาคตก็จะต่อยอดไปสู่การตั้งศูนย์เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือดูแลสำหรับเยาวชนที่มีปัญหาในเรื่องนี้” ครูไหมเล่าถึงความคาดหวังในการทำงาน

พระครูวิมลกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอุปนันทาราม จ.ระนอง ผู้ออกแบบ “หลักสูตรธรรมะช่วยสอน” กล่าวว่าในหลักสูตรนี้จะเป็นการสอนในเรื่องของหลักธรรมกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของ “ศีล” เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทในการดำรงชีวิต“เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลายคนมักจะมองและโทษไปที่ครอบครัวหรือคนอื่น โดยไม่มองว่าเหตุทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากตัวของตนเอง จึงนำหลักธรรมะมาเป็นเสมือนเครื่องประคับประคองชีวิตให้มีสติ ให้เขาสามารถดูแลตัวเองต่อไปในอนาคตได้ และศีลจะช่วยประคับประคองชีวิตของตัวเองไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่าที่เป็นอยู่ และจะช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น” พระครูวิมลฯ ระบุนางสาวพรทิพย์ พรหมสุวรรณ นักวิชาการจาก สนง.ตรวจบัญชีสหกรณ์ระนอง ผู้สอน “หลักสูตรอยู่อย่างพอเพียง” กล่าวว่าการเรียนรู้ในเรื่องของ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การทำบัญชี” จะช่วยให้น้องๆ ได้รู้จักตัวเอง สามารถควบคุมและบริหารจัดการชีวิตตัวเองในสังคมได้

“ในระหว่างการสอนก็จะคอยสอดแทรกความรู้ต่างๆ รวมไปถึงคุณธรรมจริยธรรม การรู้จักแบ่งปัน เพื่อให้เขาได้รู้จักและรู้เท่าทันตัวเอง สามารถใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเร้ารอบตัวได้ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นล้วนเกิดขึ้นจากการขาดความพอประมาณในจิตใจ” น.ส.พรทิพย์ระบุ

นางอังคนา รัตน์นราทร พยาบาลวิชาชีพจาก รพ.สต.บางริ้น ผู้พัฒนา “หลักสูตรพี่สอนน้องเรื่องท้องก่อนวัยอันควร” กล่าวว่าจะสอนให้น้องๆ ได้รู้จักยั้งคิดและมีสติก่อนที่จะคิดมีเพศสัมพันธ์ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เสียเวลาไปเกือบทั้งหมดของชีวิต เสียโอกาสในการเรียน เสียโอกาสในการทำงานดีๆ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลลูกที่เกิดขึ้นมา

“หลักสูตรนี้จะเน้นให้น้องๆ รู้จักคิดเป็น ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้เห็นผลกระทบ โดยให้เรียนรู้ชีวิตจริงและความเป็นจริงจากรุ่นพี่ที่มาเปิดอก เล่าบทเรียนและประสบการณ์ของการท้องก่อนวัย ที่ต้องส่งตัวเองเรียนหนังสือและก็ต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน เพื่อจูงใจไม่ให้เกิดเหตุซ้ำร้อย” นางอังคนากล่าว

ด้านตัวแทนกลุ่มของคุณแม่วัยใส “น้องเอ” (นามสมมุติ) ที่มักจะชักชวนเพื่อนๆ ให้เข้ามาเข้าร่วมในทุกกิจกรรมที่ “ครูไหม” จัดขึ้นต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรู้ที่ได้รับมีประโยชน์ต่อตัวเองทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน การวางแผนครอบครัว

“ที่สำคัญคือรู้จักวิธีการดูแลลูกอย่างถูกต้อง รวมถึงเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และการทำบัญชียังช่วยให้รู้เรื่องของรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน” น้องเอกล่าว

โดยปัจจุบันทาง กศน.จังหวัดระนอง ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนสถานที่ในการจัดตั้ง “ศูนย์คุณแม่วัยใส” ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองขึ้น เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ และมีแนวคิดที่จะขยายศูนย์ในลักษณะนี้ออกไปยังทุกๆ อำเภอของจังหวัด พร้อมกับสร้างเครือข่ายคณะทำงานและคุณแม่วัยใสผ่านโลกออนไลน์ Facebook และ Line เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานทั้งจังหวัด

“เมื่อคุณแม่หรือคุณพ่อวัยใสได้มาเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 หลักสูตร เราก็คาดหวังว่าคุณภาพชีวิตเขาคงจะดีขึ้น เพราะว่าเมื่อเขาได้เรียนรู้ในเรื่องของหลักธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทักษะการดำเนินชีวิต การเลี้ยงดูเด็ก และทักษะอาชีพต่างๆ ส่วนเรื่องราวเลวร้ายที่ผ่านมาก็สามารถที่จะลืมมันไป และมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ครูไหมกล่าวสรุป.

กศน.ระนอง สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส” ปลูกฝัง “หลักธรรม” และความ “พอเพียง” เพิ่มคุณภาพชีวิต กศน.ระนอง สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส” ปลูกฝัง “หลักธรรม” และความ “พอเพียง” เพิ่มคุณภาพชีวิต กศน.ระนอง สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส” ปลูกฝัง “หลักธรรม” และความ “พอเพียง” เพิ่มคุณภาพชีวิต