กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการอาจารย์มืออาชีพ สำหรับอาจารย์สายผู้สอน ระหว่างวันที่ 7 – 11 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ และ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
ดร.วิชัย พยัคฆโส คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เปิดเผยว่า “คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.ธัญบุรี มีภารกิจจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตบัณฑิตทางด้านวิชาชีพเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ เทคโนโลยีมัลติมีเดีย เทคโนโลยีการพิมพ์ เทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง นอกจากนี้คณะยังมีภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายประการ เช่น การวิจัย การทำนุบำรุงศาสนาศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนได้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนของคณะที่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้รองรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยและสังคมโลก โดยการอบรมในครั้งนี้มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายผู้สอนเป็นหลัก เพื่อปรับกระบวนทัศน์(Paradigm) ด้านวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีการให้คุณค่าต่อการจัดการเรียนการสอน บูรณาการเรียนการสอนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบองค์รวม ขับเคลื่อนองค์ความรู้ (Knowledge) ของบุคลากรผู้สอนไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Know How) ในฐานะอาจารย์มืออาชีพให้สอดคล้องกับการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล”
โดยหัวข้อและวิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทุกสาขาและทุกศาสตร์ของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย “การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อผลิตนวัตกรรมสื่อด้านสื่อสารมวลชน” โดย อาจารย์ทวีพงษ์ ลิมมากร ศิลปปินอิสระระดับนานาชาติ “การปรับเปลี่ยนสื่อวิทยุและโทรทัศน์เข้าสู่ยุคดิจิทัล” นายธนกร ศรีสุกใส คณะกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) “เทคโนโลยีดิจิทัล กับ New Media” นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ บริษัท Planet Communication “นวัตกรรมผลิตสื่อดิจิทัล” นายกิตติ พรพิพัฒน์วงศ์ บริษัท ฟูจิ ซีรอกซ์ “การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติการ (Workshop) เกี่ยวกับการผลิตรายการและระบบการควบคุมการออกอากาศ และระบบเครือข่ายเพื่อการออกอากาศ นำโดยผศ.สุทัศน์ บุรีภักดี ที่ปรึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และทีมวิทยากรจาก บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ประกอบกับในปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการโทรทัศน์นับตั้งแต่จุดจบอย่างถาวรของระบบแอนาล็อค (Analog Shutdown) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 เป็นต้นไป โลกของโทรทัศน์ได้เข้าสู่ยุคของดิจิทัล (Digital age) เต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของดิจิทัลมาตรฐาน (Standard for Digital Television) เปลี่ยนผ่านเข้าสู่โทรทัศน์คมชัดสูง (High Definition Television) และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา เป็นการเข้าสู่ช่วงปลายสมัยยุคที่ 3 ของโทรทัศน์ระบบความคมชัดสูง ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 ประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์ได้กำหนดเส้นทางเข้าสู่โทรทัศน์ระบบความคมชัดสูงสุด (Ultrahigh Definition Television) หรือ DHDTV โดยกำหนดไว้เป็นแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน (Roadmap for Realization of DHDTV Broadcasting) ในปี ค.ศ. 2020 – 2022 ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ U22 (สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและอาชีพ) ซึ่งเป็นภารกิจที่คณะฯจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้สถานีโทรทัศน์เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ผลิตรายการในหลากหลายมิติให้ออกไปสู่อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนอย่างมีคุณภาพ และในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีช่องทีวีให้รับชมมากขึ้นถึง 48 ช่อง พร้อมกับการเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณจากแบบเดิมคือแอนาล็อค มาเป็นระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ นั่นก็หมายถึงจำนวนของผู้ที่ต้องเข้าไปทำงานเพิ่มขึ้นและต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงานระบบใหม่ด้วย ทางคณะจึงเตรียมความพร้อมด้วยการเปิดสาขาเทคโนโลยีสื่อดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่บัณฑิตและเพื่อความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
คณบดีได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเรียนการสอนในปัจจุบันเน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ที่มีความหมายได้ ดังนั้น บทบาทของผู้สอนจึงเปลี่ยนไปจากผู้ให้กลายเป็นผู้คอยสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และต้องให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงที่ผู้เรียนจะต้องออกไปเผชิญในการทำงาน ดังนั้นเมื่อประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล การปรับกระบวนทัศน์ของบุคลากรสายผู้สอนเพื่อรองรับและพัฒนาอย่างเร่งด่วนในการก้าวให้เท่าทัน และรู้ให้ลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลดีต่อกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งต้องเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ การค้นคว้าข้อมูลสารสนเทศ การแก้ปัญหา การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยต้องสนับสนุนผู้เรียนในด้านการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ และการเรียนรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเตรียมพัฒนาบัณฑิตให้ก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพสำหรับศตวรรษใหม่และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนอันดับต้นของประเทศ” -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit