กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ในรอบ 3 ปี (2551-2553) พบ แนวโน้มความสุขคนไทยดีขึ้นเป็นลำดับ ประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงมีความสุขน้อยกว่าประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ และในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ในระดับใกล้เคียงกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยหรือผู้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ต่างกันเป็นสิบเท่า
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้ช่วยให้ได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยความสุขคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการสร้างความสุขคนไทย และที่สำคัญ คือ ข้อมูลความสุขคนไทยรายจังหวัด ซึ่งจังหวัดต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางสร้างความสุขให้กับคนในจังหวัดของตน โดยพบว่า จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดของประเทศติดต่อกันสองปี (2552 – 2553) ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุด ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสุขน้อยที่สุดของประเทศติดต่อกันสองปี คือ สมุทรปราการ ภูเก็ต สระแก้ว และ นครนายก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงกับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ พบประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงมีความสุขน้อยกว่าประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำและในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ในระดับใกล้เคียงกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยหรือผู้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ต่างกันเป็น สิบเท่า เช่น ในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ พบว่า จังหวัดลำปางมีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยเท่ากับ 28.8 ขณะที่นครพนม ซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ระดับเดียวกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยเท่ากับร้อยละ 2.4 เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้กลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ใกล้เคียงกันมีความสุขต่างกันมาก เป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม ชุมชน ครอบครัว และปัจจัยด้านจิตใจของประชาชน เป็นสำคัญ โดยเฉพาะความสามารถในการแก้ปัญหา สร้างความสัมพันธ์ และคุณภาพของจิตใจ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของต่างประเทศและภูมิปัญญาไทย ที่พบว่า ปัจจัยภายในจิตใจมีความสำคัญต่อความสุขมากกว่าปัจจัยภายนอก เช่น รายได้
นายวิลาส สุวี รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในปีที่ ผ่านมา มีผู้ตอบสัมภาษณ์ประมาณ 87,000 คน พบว่า คนไทยมีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้น โดยมีคะแนนตามแบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจาก 31.80 ในปี 2551 เป็น 33.09 และ 33.30 คะแนน ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ และสัดส่วนของคนที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต หรือกลุ่มสุขน้อย มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน (จากร้อยละ 17.8 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 12.8 และ 11.2 ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ) และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า เพศชายยังคงมีสุขภาพจิตดีกว่าเพศหญิง คนที่อยู่ในวัย 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในปี 2552 คะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 4.6
และพบว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกๆปี ในขณะที่ คนไทยในภาคกลางมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตในปี 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2552 (จาก 32.54 เป็น 32.60 คะแนน) นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือ มีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก (มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย) ในขณะที่ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีภาระพึ่งพิง (มีเฉพาะคนทำงาน) กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง
ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลในช่วงปี 2551-2553 คนไทยมีแนวโน้มของสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตได้ลดลงจากร้อยละ 17 เหลือเพียงร้อยละ 11 จากการศึกษาในช่วงปลายปี 2551 จนถึงปี 2553 คนไทยที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ผู้สูงอายุ มีสถานภาพหม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่ การศึกษาต่ำ เป็นผู้ว่างงานหรือลูกจ้างเอกชน รายจ่ายของครัวเรือนต่ำ (ซึ่งสะท้อนรายได้ครัวเรือนต่ำ) ครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ การศึกษาข้อมูลดังกล่าว ยังพบว่า การมีระบบการจ้างงานและดูแลปัญหาการว่างงานที่ดี การสร้างสังคมให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐหรือชุมชน การกระจายรายได้ในสังคมที่มีการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ยังทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้นด้วย
ดังนั้น การสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงจึงจำเป็นที่รัฐต้องมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจ ที่ดีที่เอื้อต่อคนไทยทุกคนให้มีงานทำ มีรายได้แน่นอนและเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ส่งเสริมให้คนไทยที่มีอาชีพเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามามีหนี้ในระบบแทน ส่งเสริมเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาในระดับสูง สนับสนุนให้คนไทยมีครอบครัวอบอุ่นขึ้น ก็เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้ นอกจากนี้รัฐยังควรนำแนววิถีทางปฏิบัติของศาสนามาใช้ย่อมทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีได้ ดังเช่น จากการศึกษาที่สะท้อนว่าคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธที่มีการปฏิบัติสมาธิ รักษาศีล 5 และสวดมนต์ในแนววิถีของพุทธศาสนาจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้าย ว่า โดยสรุป ความสุขคนไทยอาจเขียนเป็นสมการได้ ดังนี้ ความสุข = ความพึงพอใจ + สมรรถภาพของจิตใจ (ความสามารถในการสร้างสัมพันธ์และจัดการปัญหาในชีวิต) + คุณภาพของจิตใจ (ใช้หลักคำสอนทางศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต บริจาคทรัพย์ ยกโทษและให้อภัยผู้สำนึกผิดอย่างจริงใจ ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติตน เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน) + ปัจจัยสนับสนุน (ครอบครัวมีเวลาให้แก่กันอย่างเพียงพอ แต่งงานหรือเป็นโสด ไม่ประสบปัญหาหย่าร้าง ไม่มีหนี้นอกระบบ การงานมั่นคง เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ไม่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีการเร่งพัฒนารายได้ โดยครอบครัวตนเองมีรายได้น้อย) ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีการส่งเสริมองค์ประกอบความสุขทั้ง 4 องค์ประกอบดังกล่าวอย่างเข้มแข็งก็จะประสบกับความสุขได้ รายละเอียดของรายงานฉบับนี้ ดูได้จากเว็บไซด์ของกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และเว็บไซด์ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต www.jitdee.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net