iTAP หนุน กระเป๋าหนังรักษ์โลก จากเศษวัสดุ ‘Suvino’ ผุดแบรนด์“more OR less”เจาะตลาดในประเทศ

31 Mar 2010

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สวทช.

ในยุคที่ “การนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ หรือ เปลี่ยนขยะเป็นทอง” กำลังเฟื่องฟู เพราะนอกจากรับกระแสการลดภาวะโลกร้อน green product และ Eco Design แล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจกับสิ่งของที่อยู่ภายในโรงงานนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดต้นทุน และเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เช่นเดียวกับ บริษัท สุวิโน จำกัด ( Suvino Corporation Limited ) ผู้ผลิตกระเป๋าเครื่องหนังส่งออกระดับต้นๆ ของไทยที่ผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศมานานกว่า 24 ปี มองความเป็นไปได้ของกรีนโปรดักส์และพยายามรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นายธนิต วิญญูประดิษฐ์ ประธานบริษัท สุวิโน จำกัด เล่าว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 เริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ ล้มลุกคลุกคลานในวงการเครื่องหนังมาจนถึงในปีนี้ กว่า 24 ปีแล้ว แม้วันนี้จะมีคู่แข่งที่ผลิตเครื่องหนังส่งออกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อย้อนหลังกลับไปบริษัทฯ ถือเป็นรายแรกของไทยที่กล้าลงทุนนำเข้าเครื่องหนังมาผลิตเพื่อส่งออกขณะนั้นยังไม่มีรายใดทำ ซึ่งเป็นแนวคิดของภรรยาที่เล็งเห็นโอกาสในการทำเครื่องหนังส่งออกไปจำหน่ายญี่ปุ่น จนปัจจุบันนอกจากตลาดญี่ปุ่นแล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป อาทิ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์

ด้าน นางนพรัตน์ วิญญูประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ เพราะเป้าหมายบริษัทคือผลิตเพื่อการส่งออกภายใต้แบรนด์ของลูกค้า ในฐานะ OEM ผู้รับจ้างผลิตตามแบบออเดอร์ลูกค้า 95 % ที่ใช้วัตถุดิบชั้นดีจากต่างประเทศคุณภาพสูง อาทิ หนังวัวที่ใช้นำเข้าจากอิตาลี เป็นหนังวัวเกรดเอที่ผ่านการฟอกย้อมด้วยวิธีธรรมชาติ แตกต่างจากหนังวัวที่ฟอกย้อมในประเทศ จึงได้รับการยอมรับจากลูกค้าแม้จะมีราคาแพง นอกจากนี้ยังมีหนังสัตว์อื่นๆ อาทิ หนังแกะ หนังงู หรือ หนังจากปลากระเบน ขึ้นอยู่กับออเดอร์ของลูกค้า และเทรนด์ของตลาด

“ เพราะสินค้าที่ทำขึ้นอยู่กับแฟชั่น เรื่องของดีไซน์ การออกแบบ และสีสันย่อมเปลี่ยนไปตามเทรนด์ของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม และยุคสมัย อาทิ กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น จะเน้นสีสันที่มีความหลากหลาย สไตล์น่ารักเก๋ไก่ และเรียบง่าย มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่วัสดุที่ใช้เน้นความเป็นธรรมชาติ และงานต้องใช้ความละเอียดสูงมีสเป็กมาก ขณะที่แฟชั่นกระเป๋าเครื่องหนังของทางยุโรปจะนิยมกระเป๋าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สีสันเรียบง่ายกว่าไม่เน้นสีฉูดฉาด หรือโดดมากเกินไป ฉะนั้น เมื่อสินค้าอิงกับเทรนด์แฟชั่นทำให้ในกระบวนการผลิตที่ผ่านมา จึงมีเศษวัสดุเหลือใช้อยู่เป็นจำนวนมากสะสมภายในโรงงาน ”

สำหรับการจัดการกับเศษวัสดุที่เหลือในอดีตนั้น กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละเดือนบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 10,000 ชิ้น เป็นการผลิตที่ใช้ฝีมือแรงงานในการตัดและเย็บ หรือเรียกได้ว่าเป็น งาน handmade (ตั้งแต่กระเป๋าขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่) ทำให้มีเศษเหลือจากการผลิตเป็นจำนวนมากและหลากหลาย เช่น เศษเหลือจากการตัดชิ้นงานจากผืนหนังและผ้า หรือชิ้นส่วนที่ไม่ผ่าน QC รวมประมาณ 5 -10 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่าล้านบาท หากดูในรายละเอียดตั้งแต่การได้ชิ้นหนัง(raw hide)มาจนถึงการผลิตเป็นชิ้นงาน อาจมีการสูญเสีย 30 - 40%

“ แม้บริษัทจะพยายามคัดแยกชิ้นส่วน เพื่อรอการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ยังมีการทิ้งสะสมในปริมาณมาก อีกทั้งเศษวัสดุที่หลากหลายนี้ต้องสิ้นเปลืองในการจัดเก็บและคัดแยก ซึ่งบางครั้งอาจขายเป็นเศษให้กับผู้รับซื้อบ้างในราคาถูก ซึ่งไม่บ่อยนัก และไม่คุ้ม เพราะหนังที่ใช้เป็นสินค้านำเข้าราคาแพง และการเก็บเศษไว้ทำให้เกิดการสะสมต่อเนื่องเสียพื้นที่จำนวนมาก และเสียกำลังคนในการคัดแยก อีกทั้งการขนทิ้งที่ปฏิบัติอยู่นั้นถือเป็นภาระและต้นทุน รวมทั้งสร้างมลภาวะ” นางนพรัตน์ กล่าว

ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ด้วยการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้แรงงานและเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนได้มาเข้าร่วมในโครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือใช้ ภายใต้ “โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ร่วมกันจัดขึ้น

โดยมีผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยนำเศษเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า แนะนำวิธีการเลือกใช้เศษวัสดุเหลือใช้เพื่อผลิตสินค้า และสามารถขายได้ในเชิงพาณิชย์ โดยผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบของบริษัท ยังได้ถูกนำออกแสดงภายในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2553 (Thailand Internation Furniture Fair : TIFF 2553 ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าร่วมชมงาน

นางนพรัตน์ ยอมรับว่า “ ก่อนหน้านี้เพราะไม่มีเวลาที่จะนำเศษวัสดุกลับมาใช้ใหม่ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการได้อาจารย์สิงห์ เข้ามาให้คำแนะนำและให้ไอเดียการเลือกเศษแบบไหนมาทำอะไรได้บ้าง จนนำมาสู่สินค้า ประเภทของตกแต่งบนโต๊ะทำงาน หรือของตกแต่งบ้าน (โฮมเดคคอร์) เช่น หมอน เก้าอี้ ตะกร้าสาน เป็นต้น ส่วนการออกแบบหรือการให้สีสันและการตัดเย็บนั้น เป็นงานถนัดที่เราชำนาญอยู่แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงสามารถนำมาประยุกต์จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลายดังกล่าว”

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ นายธนิต มั่นใจว่า “ แม้จะผลิตจากเศษวัสดุ แต่ยืนยันว่าสินค้าที่ผลิตออกมานี้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเช่นกัน เพราะผลิตจากวัสดุคุณภาพเกรดเอผ่านการฟอกย้อมด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งถือเป็นกรีนโปรดักส์มีความสวยงามแข็งแรง จึงดูไม่ออกว่าทำจากเศษวัสดุ ประกอบกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์ เรียบง่ายแต่โดดเด่น โดนใจ ในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้ชื่นชอบผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ”

โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผลิตจากเศษวัสดุนี้ บริษัทฯ เตรียมนำออกสู่ตลาดเน้นตลาดในประเทศภายใต้แบรนด์ “ more OR less” เจาะกลุ่มวัยรุ่น , วัยทำงานที่ชอบสินค้าแฟชั่นแนวโบฮีเมียร์ หรือ ยิปซี และผู้ที่ชื่นชอบเครื่องหนัง ที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป คาดว่า จะได้รับตอบรับที่ดีจากตลาดกลุ่มใหม่กับผลิตภัณฑ์ใหม่นี้

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า การเข้าร่วมแสดงผลงานภายในงาน “TIFF 2010” ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดตัวสินค้าอย่างไม่เป็นทางการ แต่ในส่วนของ OEM นั้น ยังเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ แม้ผลประกอบการในช่วง 2- 3ปีที่ผ่านมาจะหดตัวลงบ้างตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก แม้ตัวเลขจะไม่เติบโตเหมือนในอดีต แต่สำหรับสินค้าตัวใหม่นี้ เบื้องต้นคงต้องรอดูผลการตอบรับจากตลาดก่อน จึงยังไม่ตั้งเป้ายอดขายมากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งที่เน้นคือการได้นำเศษวัสดุในโรงงานมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก้ปัญหาของเหลือทิ้ง

บจก.สุวิโน ถือเป็นผู้ผลิตเครื่องหนังส่งออกเพียงไม่กี่รายจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องหนังส่งออกจำนวนมากที่สามารถใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส “เปลี่ยนขยะจากเศษของเหลือในโรงงาน” ประกอบกับจุดแข็งของบริษัทมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่หลากหลายที่มีดีไซน์เป็นของตัวเอง สามารถสร้างกลุ่มลูกค้าและตลาดขึ้นมาใหม่ ซึ่งในประเทศไทยถือว่ายังมีน้อยรายนัก

สนใจผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง more OR less ติดต่อได้ที่ บจก.สุวิโน โทรศัพท์ 02-536-3542-3 โทรสาร 02-536-3541 หรือเว็บไซต์ www.suvinocorp.com , ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่ โทร.02-564-7000 ต่อ 1381,1368 หรือ ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซน์ www.tmc.nstda.or.th/itap

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net