‘กอเลี่ยงเฮง’ผู้นำประตูไม้ ร่วม iTAP ชูไอเดียจากเศษ สู่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นสวย

20 Oct 2010

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--สวทช.

‘กอเลี่ยงเฮง’ ผู้นำ “ประตูไม้”ธรรมชาติ อันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ด้วยจุดเด่นสินค้าคุณภาพพร้อมบริการหลังการขาย เผยเข้าร่วม iTAP ในโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นทองฯ” เพื่อนำเศษไม้เหลือใช้จากการทำประตูมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ คาดความสำเร็จนี้จะช่วยเปิดตลาดใหม่สู่ผู้ชื่นชอบงานดีไซน์และรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดการทำงานร่วมกับ iTAP อย่างต่อเนื่อง

จากการสะสมประสบการณ์กว่า 30 ปีทำให้วันนี้ ‘บริษัท กอเลี่ยงเฮง จำกัด’ ก้าวมาเป็นผู้นำในการผลิตประตูรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ โดยเริ่มต้นกิจการตั้งแต่รุ่นปู่ซึ่งผลิตประตูจนมีความเชี่ยวชาญในจังหวัดกำแพงเพชร กระทั่งย้ายโรงงานมาตั้งในห้องแถวเล็กๆย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นายสราวุฒิ ก่อสูงศักดิ์ Creative Director กอเลี่ยงเฮง กล่าวถึงความเป็นมาว่า “การทำงานจากรุ่นคุณปู่สู่รุ่นคุณพ่อทำให้มีความชำนาญในงานไม้โดยเฉพาะประตู และด้วยวิสัยทัศน์ของคุณพ่อยังทำให้มีการพัฒนาแนวทางทำงานอยู่เสมอจนมีกำลังการผลิตและออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและบริการเสมอมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ปัจจุบันจึงย้ายฐานการผลิตมาตั้งบริเวณหน้าปากซอย ถ.เสรีไทย 67 กรุงเทพฯโดยมีพื้นที่ในโรงงานประมาณ 9 ไร่ และทางคุณพ่อธีรชัย ก่อสูงศักดิ์ได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในอีกหลายๆด้านที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ทางบริษัทมีความชำนาญจึงได้เปิดบริษัทน้องใหม่ ได้แก่ บริษัท จี.แอล.เอช.โปรดักซ์ จำกัด ซึ่งมีตราสินค้าคือ MASTER DOOR ผลิตประตูกระจก Stained Glass และ Art Glass, ตราสินค้า MASTER DECO ผลิตไม้คิ้ว ไม้บัวและไม้ตกแต่งอื่นอีกมายมายรวมไปถึงตราสินค้าน้องใหม่ MASTER KITCHEN ผู้ผลิตบานซิงค์, ตู้ครัวและผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆที่ใช้ในห้องครัวซึ่งคาดว่าจะนำออกสู่ตลาดภายในปลายปี 2553 นี้ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทกอเลี่ยงเฮงได้ขยายฐานการผลิตโดยตั้งโรงงานสาขาเพิ่มอีกบริเวณลาดหลุมแก้ว นนทบุรีเพื่อรองรับกับการขยายฐานการผลิตและสร้างสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

ด้านสินค้าของบริษัท กอเลี่ยงเฮง จำกัด คือ การทำประตูไม้จริงซึ่งมีกำลังผลิตเดือนละประมาณ 5,000 บาน โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่จะใช้ไม้ธรรมชาตินำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลซีย อาทิ ไม้สยาแดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก, ไม้สนนาตาเซีย มีลักษณะสีขาวนวลเหมาะกับการใช้งานภายใน นอกจากนี้ยังมี ไม้จาปาร์การ์ ซึ่งมีลักษณะสีใกล้เคียงกับไม้สักแต่มีราคาถูกกว่า รวมทั้งมีวัตถุดิบอย่างไม้สัก แต่ผลิตเฉพาะที่ลูกค้าสั่งเนื่องจากเป็นไม้ราคาแพง

“สำหรับวัตถุดิบอย่างไม้จาปาร์การ์นั้นจะมีความใกล้เคียงกับไม้สักทั้งสีและความแข็งแรงทนทาน หากผลิตและทิ้งไว้นานๆโดยยังไม่ได้มีการทำสี สีของไม้จาปาร์การ์นั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนในที่สุดจะมีสีและลายใกล้เคียงกับไม้สักมากขนาดผู้มีความชำนาญทางด้านไม้ยังแทบแยกไม่ออก นอกจากนี้ยังมีราคาที่แตกต่างกันมาก เช่น ไม้จาปาร์การ์ราคาเพียง 3,000 บาทต่อหนึ่งบานก็ซื้อได้แล้ว แต่ไม้สักต้องมีถึง 7,000 บาท ซึ่งแพงกว่ากันเท่าตัว ดังนั้นไม้จาปาร์การ์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการความสวยงามแต่ราคาประหยัด” นางสาวปัทมา สรรพคุณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กอเลี่ยงเฮง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าส่วนใหญ่ของกอเลี่ยงเฮงจะเป็นการรับจ้างผลิต และส่งให้กับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น โฮมโปร โฮมมาร์ท

โฮมเวิร์ค สยามโกลบอลเฮ้าส์ และร้านวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ โดยเน้นกลุ่มตลาดระดับล่างถึงระดับกลางซึ่งมีศักยภาพในการซื้อสินค้าราคาประหยัดแต่มีคุณภาพ

ด้านจุดเด่นของประตูจากกอเลี่ยงเฮง คือ ความใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกไม้ รวมถึงเทคนิคในการทำชิ้นงานตั้งแต่การเพาะชิ้นไม้ การเข้าเครื่องจักร การแกะสลักลวดลาย การประกอบชิ้นงานเรียกได้ว่ามีการตรวจสอบการผลิตกันในทุกขั้นตอนการผลิตเลยทีเดียว เพื่อให้ประตูหนึ่งบานที่ลูกค้าซื้อไปสามารถรับประกันได้ถึงคุณภาพว่าจะไม่บิดงอ หด หรือชิ้นไม้แตกออกจากกัน

“แม้สั่งสินค้าประตูเพียง 1 บานเราก็รับทำหมด ผู้ผลิตบางรายอาจไม่ทำ เนื่องจากการทำประตูเพียงแค่ครั้งละหนึ่งบานนั้นยุ่งยากมากโดยเฉพาะสินค้านอกแบบหรือสินค้าที่ไซส์ไม่ได้เป็นไซส์มาตรฐาน (มาตรฐานขนาด 70x200 cm.,80x200 cm.,90x200 cm.,หรือ ขนาด 100x200 cm.)

ยกตัวอย่างลูกค้าสั่งประตูที่มีขนาด 83x225 cm. แค่เพียงหนึ่งบานก็รับทำให้ไม่เคยปฏิเสธลูกค้า แม้จะต้องมีการทำแบบใหม่ทั้งหมดโดยใช้ไม้อัดในการวาดแบบซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก เพราะแทนที่คนงานจะใช้เวลาตรงนี้ไปทำงานอื่นที่ทำได้ครั้งละเป็น 100 บาน ก็ต้องมาทำแบบของตัวนี้แทน นี่คือความแตกต่างของบริษัทเราที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าและยังการันตีได้อีกว่าจะสามารถจัดส่งได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นการจัดส่งที่รวดเร็วที่สุดในบรรดาผูผลิตประตูด้วยกันเลยก็ว่าได้

สำหรับไซส์มาตรฐานนั้นเร็วถึงขนาดที่ว่าสั่งมาวันนี้ช่วงบ่ายพรุ่งนี้เช้าสามารถจัดส่งให้ลูกค้าเลยหรือสั่งมาตอนเช้าช่วงบ่ายของวันเดียวกันก็จัดส่งให้เลยนับเป็นเรื่องธรรมดาของบริษัท จะเห็นได้ว่าบริการเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจในการทำงานของเรา” จากการเป็นผู้นำสินค้าอย่าง “ประตู” ซึ่งมีกำลังการผลิตจำนวนมากในแต่ละเดือน ยังทำให้ กอเลี่ยงเฮง มีเศษเหลือใช้ในกระบวนการผลิตประตูถึง 15,000 คิวฟุต/ปี แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นปัญหาของโรงงาน ตรงข้ามกลับถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่ที่มีดีไซน์ด้วยแนวความคิดที่ได้รับแรงกระตุ้นจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)ผ่านโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” โดย ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาให้คำแนะนำแนวคิดที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก ด้วยการนำสิ่งของเหลือใช้มาดัดแปลงสร้างคุณค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์

นายสราวุฒิ กล่าวถึงเหตุผลของการเข้าร่วมงานกับ iTAP ว่า “เนื่องจากเรามีเศษวัสดุเหลือใช้เป็นจำนวน มากอย่างเศษไม้ เดิมก็ใช้วิธีขายทิ้งแทบไม่มีมูลค่า ส่วนใหญ่นำไปทำฟืนหรือช่างในโรงงานนำไปต่อทำเก้าอี้ใช้เองบ้าง โดยเศษเหล่านี้สะสมมาหลายปีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จึงมีแนวคิดอยากให้รุ่นลูกช่วยสานต่อการทำงานว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ทำให้เริ่มหาข้อมูลทางอินเตอร์เนตและมาพบกับโครงการ iTAP อีกทั้งเมื่อทราบว่ามีอาจารย์สิงห์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไม้เป็นหัวหน้าทีม จึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ”

โดยเริ่มต้นเข้าร่วม โครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองฯ เมื่อต้นปี 2553 และมีผู้เชี่ยวชาญ iTAP เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานเพื่อดูลักษณะต่างๆของเศษวัสดุเหลือใช้ในโรงงาน หลังจากนั้นจึงออกแบบและส่งแบบดังกล่าวมาให้ผลิต และมีคำแนะนำทำให้เริ่มมีการนำเสนอแนวคิดในการออกแบบร่วมกันกับคณะผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

“เมื่อทีมอาจารย์สิงห์เข้ามาแนะนำทำให้เกิดไอเดียเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวผมก็จบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มาอยู่แล้วด้วย จึงสามารถคลิกกันรวดเร็ว บางอย่างอาจารย์ออกแบบมาเราก็ต่อยอดได้หลายโปรดักส์ เมื่อทำงานร่วมกับทีมอาจารย์ในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปีก็สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากเศษเหลือใช้ได้แล้วถึง 20 ชิ้นงาน และยังเป็นการทำงานที่สนุก โดยมีทีมอาจารย์เป็นแรงผลักดันในการทำงานที่ดี” ด้านเป้าหมายในการทำงานครั้งนี้ หนึ่งในผู้บริหารกอเลี่ยงเฮง กล่าวด้วยว่า พยายามลดของเหลือให้น้อยที่สุดและทำการตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น ออกงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศและเริ่มต้นวางจำหน่ายสินค้าในร้านโอชิสุ(ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากเศษเหลือใช้)โดยเน้นกลุ่มลูกค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสนใจการนำเศษวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีดีไซน์ที่สวยงาม รวมทั้งกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นที่นิยมเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านที่มีดีไซน์ นอกจากนี้ยังเตรียมวางแผนสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเองอีกด้วย

“สำหรับผลงานที่ออกมา 20 ชิ้นขณะนี้ เช่น เก้าอี้ม้านั่งซึ่งทำมาจากเศษไม้เหลือใช้ในโรงงานโดยเป็นลายหมากรุกแต่ยังขาดสเกลไปหนึ่งช่อง จึงกำลังพัฒนาชิ้นงานต่อไปให้สามารถเล่นหมากรุกได้จริงและนั่งเข้าหากันเพื่อง่ายต่อการเล่น และยังมีเก้าอี้สไลด์ที่มีร่องต่อกันคล้ายจิ๊กซอ ซึ่งทำมาจากเศษเช่นเดียวกัน ฯลฯ

อนาคตยังวางแผนผลิตคอลเลคชั่นไม้โทนสีธรรมชาติ เช่น สีเข้มจากไม้สยาแดง สีอ่อนจากไม้สนนาตาเซีย และใช้เทคนิค “ตอกเดือย” คือ ไม่ใช้ตะปูในการทำเหมือนสมัยก่อนซึ่งเป็นเทคนิคงานฝีมือชั้นสูง โชว์ลายไม้และเน้นความเรียบง่าย เหมือนย้อนกลับไปในอดีต” ผู้บริหารกอเลี่ยงเฮง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังวางแผนการทำงานร่วมกับ iTAP ต่อเนื่อง เช่น เริ่มต้นจากการคัดแยกวัตถุดิบเหลือใช้เป็นจำนวนมากที่มีอยู่เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน ซึ่งขณะนี้ทุกคนในโรงงานเริ่มสนุกกับการทำงานและช่วยกันออกไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และมองว่าการทำงานครั้งนี้ยังช่วยเปิดตลาดใหม่ สร้างจินตนาการให้สามารถนำของเหลือทิ้งแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสวยและมีมูลค่าเพิ่มต่อไปได้

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร.0-2564-7000 ต่อ 1301,1381

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net