กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเดือน กรกฏาคม - สิงหาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณพื้นที่ที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า เดือนกรกฏาคม จัดอยู่ในช่วงกลางฤดูฝนซึ่งจากการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในเดือนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ จึงมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากในบริเวณพื้นที่ที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านได้ โดยในแต่ละปีประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านเข้ามา เฉลี่ยปีละ 2 – 3 ลูก ส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงเพียงแค่ดีเปรสชั่นเท่านั้น แต่ก็สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล โดยในช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน จะเกิดพายุลมแรง และมีฝนตกหนัก จึงขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนพัดผ่าน
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อน ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะที่ราบเชิงเขา ที่ลุ่มริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล ควรดูแลสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้าน ตัดกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงซึ่งอาจหักโค่นทับบ้านเรือนทิ้ง หากตรวจพบต้นไม้ขนาดใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ไม่มั่นคงแข็งแรงให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ แก้ไข รื้อถอนโดยด่วน หมั่นตรวจสอบท่อระบายน้ำ หากมีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำให้รีบจัดเก็บ จัดเตรียมกระสอบทรายเพื่อเสริมแนวคันกั้นน้ำท่วม ป้องกันน้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลเข้าบ้านเรือน ติดตามรับฟังข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา ถ้ามีประกาศเตือนเรื่องการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณที่ตนอาศัยอยู่ ควรเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็น อาหาร ยารักษาโรค และขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูง หากสถานการณ์รุนแรงมาก ให้อพยพขึ้นที่สูงตามเส้นทางที่กำหนด เมื่อพายุสงบลงแล้ว หากพบเสาไฟฟ้าล้มสายไฟฟ้าแรงสูงขาด ไม่ควรเข้าใกล้หรือใช้ไม้เขี่ยโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดไฟดูดได้รับอันตรายได้ ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบโดยด่วน ถ้ามีต้นไม้ใกล้ล้มควรจัดการโค่นทิ้งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจสร้างความเสียหายได้ สุดท้ายนี้หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยพิบัติ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit