ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิปี 48 จำนวน 20,306 ล้านบาท

20 Jan 2006

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ธนาคารกรุงเทพ

พัฒนาการที่สำคัญในปี 2548

กำไรก่อนหักภาษีเท่ากับ 22,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8

สินเชื่อด้อยคุณภาพลดจากร้อยละ 16.9 เหลือร้อยละ 10.9 ของสินเชื่อรวม

ธนาคารเริ่มชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มจำนวนในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

ธนาคารกรุงเทพรายงานผลประกอบการประจำปี 2548 มีกำไรสุทธิ 20,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,686 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 15.2 จากปี 2547 ในขณะที่กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น 4,894 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.8 เป็น 22,514 ล้านบาท โดยธนาคารได้ประมาณค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี 2548 จำนวน 2,208 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการชำระภาษีนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2541

ผลกำไรที่ดีขึ้นในปี 2548 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 7,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.9 เป็น 40,210 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2548 สินเชื่อรวมของธนาคารลดลงจาก 932,940 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เป็น 912,003 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะยอดสินเชื่อที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดจำหน่ายหนี้สูญมีจำนวนสูงกว่ายอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อใหม่สุทธิหลังจากยอดชำระคืน

เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีผลต่อรายได้และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของธนาคารไม่พร้อมกัน ดังนั้น รายได้ดอกเบี้ยในปี 2548 จึงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในอัตราร้อยละ 16.1 เป็น 56,030 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.8 เป็นจำนวน 15,820 บาท ส่วนรายได้ดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 0.8 เป็น 17,694 บาท เนื่องจากกำไรจากเงินลงทุนสุทธิลดลงจำนวน 2,163 ล้านบาท ลดลงมากกว่าการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 1,418 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เป็น 31,081 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น

สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงจาก 158,676 ล้านบาทเป็น 100,573 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 ของสินเชื่อรวม โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 4,309 ล้านบาท สัดส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพจึงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.6 เป็นร้อยละ 79.1 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารมียอดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็นร้อยละ 165.5 เพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 145.1 เมื่อสิ้นปี 2547

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.7 ณ สิ้นปี 2547 เป็นร้อยละ 78.9 ณ สิ้นปี 2548 โดยยอดเงินฝากลดลงร้อยละ 2.5 จาก 1,186,111 ล้านบาท เป็น 1,156,530 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2548 หากนับรวมผลกำไรในปี 2548 ด้วย ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ประมาณร้อยละ 15.0 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 11.5

ส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 139,232 ล้านบาท จากจำนวน 114,966 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 9.23 บาท เป็น 10.64 บาท--จบ--