ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางฯ เล็งการณ์ไกลผลิต ‘ไบโอแก๊ส’ใช้แทนน้ำมันรายแรก

07 Oct 2005

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สวทช.

สวทช. สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ “บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด” ต้นแบบอุตสาหกรรมยางไทยแห่งแรก พัฒนา ‘ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ หรือ UASB’ ได้ ‘ไบโอแก๊ส’ ใช้ทดแทนน้ำมัน ลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้ถึงวันละกว่าสองหมื่นบาท เตรียมนำมาใช้ต้นปี49หวังขยายสู่โรงผลิตยางอื่นๆ ต่อไป

ท่ามกลางยุคน้ำมันแพงและวิกฤตการณ์พลังงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบอย่างมากกับอุตสาหกรรมการผลิต หลายแห่งต้องประสบภาวะขาดทุนจากการแบกรับค่าใช้จ่ายของต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ไหว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องเร่งเสาะหาวิธีที่จะช่วยลดภาระดังกล่าว และเพิ่มขีดความสามารถให้กับตัวเองเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ดังนั้น บริษัทฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นและยางแท่งรายใหญ่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา จึงมีแนวคิดที่จะนำ “ไบโอแก๊ส” หรือ แก๊สชีวภาพจากการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำยางฯ มาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลที่โรงงานใช้อยู่เดิมสำหรับการอบยาง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้การสนับสนุนโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด ในโครงการนำร่องผลิตแก๊สชีวภาพ หรือ “ไบโอแก๊ส” จากการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ หรือ UASB จากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำยาง หากสำเร็จจะเป็นอุตสาหกรรมยางรายแรกของไทย เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในภาวะวิกฤติราคาน้ำมันแพง นายอภิชาติ เตชะภัทรกุล ผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัทฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำยางข้น และยางแท่ง โดยรับซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนยางเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางดิบให้อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เนื่องจากในกระบวนการผลิตน้ำยางฯ จะมีน้ำเสียเกิดขึ้นซึ่งปริมาณน้ำเสียในแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำยางที่รับซื้อได้ โดยเฉลี่ยจะมีน้ำเสียเกิดขึ้นประมาณ 300 – 800 ลบ.ม./วัน ส่งผลให้เกิดผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นอันเกิดจากก๊าซไข่เน่า หรือ H2S ตามมา

แม้เดิมทีบริษัทฯ จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีบำบัดน้ำเสียแบบบ่อเปิด หรือ บ่อผึ่ง ถึง 11 บ่อ ในพื้นที่กว่า 70-80 ไร่ แต่เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้กลิ่นกระจายออกไปรบกวนชุมชนในบริเวณใกล้เคียง พร้อมกับได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ จึงได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน จนในที่สุดได้เลือกนำระบบไร้อากาศแบบ UASB มาใช้บำบัดน้ำเสียให้กับโรงงานฯ ซึ่งยังไม่เคยมีอุตสาหกรรมยางรายใดนำระบบดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการลงทุนที่ยังค่อนข้างสูง แต่เมื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าคุ้มค่าในระยะยาว เพราะนอกจากจะเห็นผลในแง่ของการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อหมุนเวียนภายในโรงงาน ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับค่าไฟฟ้าเพื่อเติมอากาศ และลดปัญหาเรื่องของกลิ่นแล้ว ยังได้ แก๊สชีวภาพ หรือ ‘ไบโอแก๊ส’ มาใช้ทดแทนพลังงานในกระบวนการอบยาง เป็นการประหยัดพลังงานให้กับบริษัทได้ในระยะยาวอีกด้วย

นายอภิชาติ กล่าวว่า “ ในการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก โครงการ CD (สวทช.) เป็นวงเงิน 3,385,450 บาท จากงบประมาณรวมของโครงการฯ ทั้งสิ้น 6,770,900 บาท หรือ 50% ของวงเงินทั้งหมด โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 และหลังจากที่บริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถรองรับน้ำเสียที่เพิ่มมากขึ้นและแก้ไขจุดบกพร่องของระบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัท ก็ยังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการที่ 2 ในวงเงิน 12 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.6 เท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ที่สำคัญยังสามารถผ่อนชำระคืนเงินกู้ได้นานถึง 7 ปี ”

หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดังกล่าวนำมาพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย UASB จนใกล้แล้วเสร็จ และพร้อมเดินระบบได้ประมาณต้นปี 2549 คาดว่า จะได้ไบโอแก๊สมาใช้ในการอบยางได้ไม่ต่ำกว่า 600 ลิตร /วัน หรือ สูงสุดประมาณ 1,233 ลิตร/วัน ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันโซล่า(ดีเซล)สำหรับการอบยางฯ ลงได้ถึง 50% หรือ ไม่ต่ำกว่า 10,000 – 30,000 บาท/วันเลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตตามปริมาณน้ำยางสดที่รับซื้อในแต่ละวัน โดยการลงทุนในระบบดังกล่าวจะสามารถคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น จึงนับว่าระบบUASB เป็นระบบที่คุ้มค่าอย่างยิ่งในสภาวะที่พลังงานน้ำมันนับวันทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว นายอภิชาติ มั่นใจว่า “บริษัทฯ ย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ทั้งเรื่องของต้นทุนการผลิต และโอกาสในการแข่งขันทางด้านราคาที่จะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นแนวโน้มการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางในอนาคตว่าใครมีต้นทุนที่ถูกกว่าและมีคุณภาพที่ดีกว่าจึงจะอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ”

ปัจจุบัน บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด มีกำลังการผลิตในสัดส่วนของน้ำยางข้นร้อยละ 60 หรือ ประมาณ 12,000 ตัน/ปี และยางแท่งร้อยละ 40 หรือประมาณ 9,500 ตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิตสูงสุดสำหรับการผลิตน้ำยางข้นได้ถึง 30,000 ตัน/ปี และยางแท่ง 12,000 – 15,000 ตัน/ปี

ด้าน นางสาวชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ หัวหน้าโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการCD ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการนำเทคโนโลยีไปใช้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และนำพลังงานที่ได้จากการบำบัดกลับมาใช้ไปในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสหากรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง , อุตสาหกรรมกระดาษ ,อุตสาหกรรมยางพารา และฟาร์มหมู เป็นต้น คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 304.8 ล้านบาท แต่สำหรับ บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัดนั้น ถือได้ว่าเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้น ในการแก้ปัญหาการบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศหรือ UASB ต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับการสนับสนุนในโครงการ CD สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1335 หรือ ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/cd

(สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพ เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คุณนก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187,8)

สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--